ยกกรณีการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง พม.! ป.ป.ช. ตั้งอนุฯเศึกษามาตรการป้องกันทุจริตงบประมาณอุดหนุน ‘พล.อ.บุณยวัจน์’ ปธ.-‘สุภา’ รองฯ ดูหมดเงินอุดหนุน สปสช.-เงินอุดหนุนวัด-อปท.-จ่ายรายหัวนักเรียน ชง 3 ด้านแก้ปัญหา
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2563 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีปรากฏปัญหากรณีการทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เข้าร้องเรียนต่อเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าขณะฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ถูกสั่งให้ปลอมเอกสารลายมือชื่อและข้อมูลเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ กลุ่มส่งเสริมอาชีพ และปลอมลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงิน ตามคำสั่งของผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่นและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการฝึกงานของนักศึกษา
ภายหลังจากที่ได้มีการรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้วสำนักงานเลขาธิการ คสช. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวและพบว่ามีมูลตามที่ร้องเรียน โดยได้มีการรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมกับลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และสรุปรายละเอียดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
จากการศึกษาปัญหาการทุจริตดังกล่าวเกิดจากปัญหาการทุจริตในการบริหารจัดการงบประมาณ งบเงินอุดหนุน ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างในระดับประเทศ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับงบประมาณงบเงินอุดหนุนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับงบประมาณงบเงินอุดหนุน” ซึ่งมี พลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ (กรรมการ ป.ป.ช.) เป็นประธานอนุกรรมการ และมีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ (กรรมการ ป.ป.ช.) เป็นรองประธานอนุกรรมการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตกรณีงบประมาณงบเงินอุดหนุน ในกรณีสำคัญต่าง ๆ อาทิ กรณีการเบิกจ่ายเงินโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ กรณีเงินอุดหนุนวัด กรณีเงินอุดหนุนสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวของนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
โดยเฉพาะกรณีปัญหาการทุจริต ในการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต กรณีเงินอุดหนุนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการศึกษา รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ปัญหากรณีเงินอุดหนุนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมทั้งเสนอมาตรการหรือข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันการทุจริตในเรื่องดังกล่าว
ในการนี้ จากผลการศึกษาปัญหาการทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง และสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการรั่วไหลของงบประมาณงบเงินอุดหนุนที่เกิดจากการกระทำทุจริตในหลายขั้นตอน ทั้งในด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง วิธีการและแนวทางปฏิบัติของผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงหรือมีช่องว่างที่อาจกระทำการทุจริตได้ รวมทั้งระบบการติดตาม ประเมินผล และการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุนที่ไม่รัดกุม รอบคอบ ตลอดจนปัญหาในด้านการจัดทำฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทย และการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นสมควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีศึกษากรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ต่อคณะรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพื่อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการการใช้จ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุนในภาพรวมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีส่วนราชการภายใต้สังกัดที่มีภารกิจหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสวัสดิการสังคมหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ดังนี้
1. ด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทยควรจัดทำฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทยและดำเนินการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับเลขประจำตัวประชาชนเพื่อให้เกิดการบูรณาการการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. ด้านเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน ควรทบทวน ปรับปรุง กฎหมาย ระเบียบ วิธีการที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน เงินสงเคราะห์ ให้มีความชัดเจน เหมาะสมกับสถานการณ์ และมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภารกิจด้านการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ประชาชน เพื่อลดความซ้ำซ้อน ความผิดพลาด และโอกาสการทุจริต
3. ด้านการติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน ควรจัดทำแผนการตรวจสอบประเด็น/ขั้นตอนที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตในการดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน มีการสุ่มตรวจสอบ และกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลที่มีความเหมาะสม รวมทั้งมีการเปิดเผยผลการติดตามและประเมินโครงการต่อสาธารณะ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage