ยังโดนคดีเหมือนเดิม! อัยการภาค 7 ทำหนังสือเวียนอัยการจังหวัดในสังกัด คนที่ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว 22.00-04.00 น. ก่อน 16 พ.ค. 63 แต่ยังไม่ได้นำตัวฟ้อง ถือว่ามีความผิดตาม ม.9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่แม้ ‘บิ๊กตู่’ ขยายเวลาเคอร์ฟิวแล้วก็ตาม ชี้นำ ป.อาญา ม.2-3 มาบังคับใช้ไม่ได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการภาค 7 ทำหนังสือลงนามโดยนายพูนศักดิ์ อุทกภาชน์ อธิบดีอัยการภาค 7 ถึงอัยการจังหวัดทุกสำนักงานภายในภาค 7 เรื่อง การดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
หนังสือดังกล่าวระบุสาระสำคัญว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ออกประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 7 กรณีการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) เวลา 23.00-04.00 น. มีผลตั้งแต่ 17 พ.ค. 2563 โดยเปลี่ยนแปลงจากฉบับที่ 2 ที่ระบุเวลา 22.00-04.00 น. ที่มีผลระหว่างวันที่ 3 เม.ย.-16 พ.ค. 2563 ส่งผลให้เกิดความเห็นในทางกฎหมายของนักกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างออกไป บางคนมีความเห็นว่า “การกระทำผิดอันเป็นการฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน” ตามฉบับที่ 2 นั้น หากยังไม่ได้ฟ้องดำเนินคดีผู้ต้องหาต่อศาลภายในวันที่ 16 พ.ค. 2563 แล้วกรณีจะต้องปรับใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณต่อผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 และ 3 โดยพนักงานอัยการต้องไม่สั่งฟ้อง หรือหากฟ้องคดีไปศาลก็ต้องยกฟ้อง
แต่บางคนมีความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดแล้ว และเป็นความผิดต่อไป ไม่อาจนำกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณมาปรับใช้ได้ ต้องฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ส่งผลให้เกิดข้อสงสัยและเกิดความสับสนในการปฏิบัติต่อจำนวนคดีดังกล่าว อันอาจเกิดความไม่เป็นเอกภาพในการดำเนินคดีดังกล่าวของสำนักงานอัยการต่าง ๆ ภายในสังกัดสำนักงานอัยการภาค 7 นั้น
สำนักงานอัยการภาค 7 พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีที่จะปรับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 และ 3 หรือการนำกฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นคุณมาใช้แก่ผู้กระทำความผิดได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ได้แก่ กฎหมายที่ตราขึ้นโดยอำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ. พ.ร.ก. (ที่มี พ.ร.บ.อนุมัติในภายหลัง) แต่หากเป็นเพียงการยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง พ.ร.ฎ. กฎกระทรวง ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนด ที่ออกตาม พ.ร.บ. หรืออกตาม พ.ร.ก. แต่ พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. ยังคงบังคับใช้อยู่เดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นเพียงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่กำหนดขึ้นตาม พ.ร.บ. แห่งกฎหมายนั้น มิได้เปลี่ยนแปลงสาระที่เป็นกฎหมายแท้ ๆ
ทั้งนี้กรณีนายกรัฐมนตรีออกประกาศข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 7 ดังกล่าว จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น มิได้เปลี่ยนแปลงสาระที่เป็นกฎหมายแท้ ๆ ดังนั้นจึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 และ 3 มาปรับใช้ได้ กรณีผู้กระทำความผิดที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 2 แม้จะไม่ได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลภายในวันที่ 16 พ.ค. 2563 แต่การกระทำยังคงเป็นความผิดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่เช่นเดิม จึงต้องมีคำสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/