สปสช.ประเมินผลกระทบ “กองทุนบัตรทอง” จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เตรียมจัดสรรงบขาลงปี 64 คงเพิ่มรายการบริการใหม่ พร้อมปรับปรุงงบปี 63 หลังพบบางรายการบริการลด เหตุหน่วยบริการงดบริการกันการแพร่ระบาด และมีค่าใช้จ่ายใหม่เพิ่มเติม
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการประชุมเพื่อเตรียมการจัดสรรงบ ปี 2564 ไปยังหน่วยบริการเพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิทั่วประเทศกว่า 48 ล้านคน ตามงบประมาณที่ได้รับ 194,508.78 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบเหมาจ่าย 177,198.99 ล้านบาท หรือ 3,719.23 บาทต่อประชากรผู้มีสิทธิ เมื่อหักเงินเดือนในส่วนของหน่วยบริการรัฐ เป็นงบประมาณที่ สปสช.ได้รับ 142,364.81 ล้านบาท ในการนำมาจัดสรรค่าบริการ
ในการประชุมนอกจากหารือการจัดสรรงบประมาณในส่วนบริการหลัก อาทิ บริการผู้ป่วยใน บริการผู้ป่วยนอก บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เป็นต้นแล้ว ยังมีการพิจารณางบประมาณเพื่อดำเนินการในส่วนบริการใหม่ อาทิ ห้องฉุกเฉินคุณภาพ ร้านยาคุณภาพ การบริการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate Care) บัญชียา จ.2 ใหม่ (ยาจำเป็นที่มีราคาแพง) และการฝังเข็มในผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลและเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยจะนำรายละเอียดเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อเห็นชอบต่อไป
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้ป่วย ซึ่งอาจจะทำให้การให้บริการในบางรายการลดลง และบางรายการเพิ่มขึ้น ดังนั้น สปสช.จึงได้มีการหารือและเตรียมพิจารณาเพื่อปรับงบประมาณที่จัดสรรให้เกิดความเหมาะสมทั้งในส่วนของงบประมาณปี 2563 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการขณะนี้ และปีงบประมาณ 2564 ที่กำลังมาถึง รวมถึงการปรับรูปแบบการบริการของหน่วยบริการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจยังคงต่อเนื่องต่อไป
“ข้อมูลบริการลดลงที่เห็นชัดเจน อย่างเช่นบริการการแพทย์แผนไทย การนวดรักษา การบริการฟื้นฟูสุขภาพในชุมชน ที่ผ่านมาหน่วยบริการได้ระงับการให้บริการชั่วคราว เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้การบริการในปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ขณะเดียวกันก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ การจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วยเรื้อรัง การให้ผู้ป่วยรับยาร้านยาใกล้บ้าน และการตรวจคัดกรองติดเชื้อโควิด-19 ก่อนทำหัตถการ รวมถึงอุปกรณ์ในการป้องกันที่เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมขณะนี้และอาจต่อเนื่องในอนาคต คงต้องนำทั้งหมดมาประเมิน เชื่อว่าในท้ายสุดยังคงต้องมีงบประมาณมาเสริมการปฏิบัติงานให้แก่หน่วยบริการต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า นอกจากนี้จากสถานการณ์การปิดบริการของสถานบริการต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างและมีผู้ที่ตกงานจำนวนมาก ทำให้มีประชาชนที่โอนการรักษาพยาบาลมายังสิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนหลายแสนคน ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือให้ทำการตรวจสอบงบประมาณที่ยังขาดตกบกพร่องและโครงการที่จำเป็นในการดูแลประชาชนแต่ยังไม่มีงบประมาณรองรับ ทั้งนี้เพื่อจัดทำคำของบประมาณเพิ่มเติมภายใต้งบประมาณเงินกู้ 45,000 ล้านบาท และงบกลางที่รัฐบาลกำลังเตรียมการโอนงบประมาณมาช่วย ตามที่รัฐบาลมอบให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ เพื่อสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ