เครือข่ายวิจัย สกสว. ปัตตานี กลุ่มบาราโหมบาร์ซา พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในช่วงโควิด-19 โดยชักชวนแรงงานที่กลับจากมาเลเซีย ทำหน้ากากผ้าลวดลายมลายู สร้างรายได้ตกเดือนละ 1.2 แสนบาท ยอดซื้อส่วนใหญ่มาจาก กทม.
นางฟารีดา กล้าณรงค์ หัวหน้ากลุ่มบาราโหมบาร์ซา และวิทยากรศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี ในฐานะเครือข่ายวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในโครงการ “วิจัยและพัฒนาศักยภาพเยาวชนนอกระบบจังหวัดชายแดนใต้สู่การเป็นผู้ประกอบการสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชายแดนภาคใต้” เปิดเผยว่า ได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใต้แนวคิดการนำสิ่งที่มีอยู่มาสร้างสรรค์เป็นลวดลายบนงานหัตถกรรม จากที่ทำผ้าบาติกด้วยบล๊อกไม้โดยประยุกต์เอามรดกทางประวัติศาสตร์ของชุมชนบาราโหม มาสร้างจุดเด่นในการสืบสานศิลปวัฒธรรมให้ลูกหลานของชุมชนและเผยแพร่แก่สังคม ด้วยการทำหน้ากากผ้าแทนหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลน โดยด้านนอกใช้ผ้าฝ้ายพิมพ์ลวดลายเครื่องถ้วยชามโบราณที่ขุดพบในพื้นที่แล้วนำมาทำบล็อกไม้ ด้านในเป็นผ้ามัสลินหรือผ้าสาลู ซึ่งขั้นตอนการทำได้ศึกษาเปิดดูจากอินเตอร์เน็ต
ล่าสุดกลุ่มบาราโหมบาร์ซาได้จัดทำ “ลือปัสบาติก” ที่มีความพิเศษจากที่อื่นด้วยลวดลายคงความเป็นอัตลักษณ์ของปัตตานี ใช้สี 4 ราชินีในตำนานของชาวปาตานี การออกแบบที่ไม่เหมือนใคร สินค้าสะดวกต่อการพกพา
โดยในคอลเลคชั่นใหม่ของบาราโหมบาร์ขณะนี้เน้นผ้าบาติกวัยรุ่น ใน 1 เซต ราคา 450 บาท ประกอบด้วยผ้าลือปัสเพจ (ผ้าอเนกประสงค์ ใช้เป็นผ้าคลุมศีรษะหรือผ้าพันคอ) กระเป๋าใส่ผ้าลือปัน และหน้ากากป้องกันโรค ซึ่งผ้าเซตดังกล่าวได้ถ่ายทอดเรื่องราวศิลปะบนพื้นผ้าบาติกพิมพ์ลายด้วยบล๊อกไม้แห่งปัตตานี โดดเด่นด้วยลวดลายประวัติศาสตร์สู่งานหัตถกรรมร่วมสมัย นั่นคือ ลวดลายเหรียญม๊ะ ดีนาห์ เหรียญทองเมืองปัตตานี ลวดลายกระจงสัตว์ที่เจ้าเมืองปัตตานีตามล่า
“แต่เดิมชาวบ้านก็มีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ จากการทำประมงพื้นบ้าน และการท่องเที่ยวโดยชุมชน พร้อมกับการทำหัตถกรรมของกลุ่มบาราโหม โดยคนส่วนใหญ่เดินทางไปใช้แรงงานในประเทศมาเลเซีย เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 แรงงานเหล่านี้เดินทางกลับจากมาเลเซียก็ไม่มีงานทำ ขาดรายได้ จึงชักชวนแรงงานเหล่านี้เข้ากลุ่ม สอนให้ทำหน้ากากผ้าแล้วกลับไปทำที่บ้าน ถึงเวลาก็เอาสินค้ามาส่ง ส่วนคนที่ทำไม่เป็นเราก็จะจ้างให้ไปส่งสินค้า ณ ที่ทำการไปรษณีย์ หรือไปส่งให้ผู้รับตามจุดนัด ทุกวันนี้มียอดสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากประมาณ 2,500 ชิ้น ผลิตกันทุกวันทำแทบไม่ทัน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวกรุงเทพฯ ร้อยละ 60-70 ที่ติดตามงานของบาราโหมบาร์ซามาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่ง สกสว. ได้ทำประชาสัมพันธ์งานของกลุ่มเผยแพร่ผ่านสื่อ ด้วยความชื่นชอบในลวดลายที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ยังมีลูกค้าจากภูเก็ตซึ่งเป็นพื้นที่ที่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาจำนวนมาก รวมถึงกระบี่ พังงา ระนอง เป็นต้น สร้างงานสร้างรายได้แก่สมาชิกประมาณเดือนละ 120,000 บาท”
ท่านใดสนใจสินค้าหน้ากากผ้าของชาวบาราโหม สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่เพจ ของฝาก ของที่ระลึก By Barahom Barzaar