กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ จับตา ‘สมคิด’ เสนอครม.พรุ่งนี้ เปิดทางไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP ชี้กระทบมาตรการแก้ปัญหาโควิด-ระบบจัดซื้อจัดภาครัฐ-เมล็ดพันธุ์แพง
จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะนำรายงานผลดีและผลเสียของการเข้าร่วมภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 21 เม.ย.นี้ และขอให้ครม.ตัดสินใจว่าจะให้กระทรวงพาณิชย์ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP หรือไม่ ก่อนที่การประชุมภาคี CPTPP จะมีขึ้นในเดือนส.ค.นี้
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า ครม.อย่าใช้ช่วงเวลาวิกฤติ COVID-19 เห็นชอบการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ตามข้อเสนอของนายสมคิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อหลายมาตรการ และนโยบายของรัฐบาลที่กำลังแก้ปัญหาวิกฤติสาธารณสุขอยู่ขณะนี้ เช่น การทบทวนการจัดซื้อครุภัณฑ์จากต่างประเทศมาเป็นการจัดหาครุภัณฑ์จากผู้ผลิตภายในประเทศ เป็นต้น
“มติครม.เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการเสริมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการให้หน่วยงานต่างๆ ทบทวนการจัดหาครุภัณฑ์จากต่างประเทศมาดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์จากผู้ผลิตภายในประเทศเว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง แต่หากไทยเข้าร่วม CPTPP แล้ว นโยบายหรือมาตรการที่ว่านี้จะออกไม่ได้ เพราะขัดกับความตกลง หากออกไปก็เสี่ยงที่จะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนักลงทุนต่างประเทศได้” น.ส.กรรณิการ์กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นประธาน เรียกหน่วยงานต่างๆเข้าชี้แจงข้อกังวลการเข้าร่วม CPTPP ซึ่งตัวแทนกรมบัญชีกลาง ที่ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐรายงานว่า กฎกระทรวงที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพัสดุที่ภาครัฐไทยต้องการส่งเสริม เช่น บัญชีนวัตกรรม การให้ความช่วยเหลือองค์การเภสัชกรรม หากเป็นเรื่องทั่วไปต้องยกเลิกทั้งหมดเพราะขัดกับความตกลงฯ
“หากดูสาระของพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560 เทียบกับบทที่ 15 ของ CPTPP แม้ไม่ได้ขัดกัน แต่ถ้าไปดูกฎหมายลูกที่เป็นประกาศต่างๆที่ให้สิทธิพิเศษรัฐวิสาหกิจไทย เช่น ในกรณีขององค์การเภสัชกรรม บัญชีนวัตกรรมที่ขึ้นบัญชีให้ผู้ประกอบการที่เป็นคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทั้งยาและเครื่องมือแพทย์ จะพบว่ามีการขัดกัน จึงต้องมีการศึกษาเป็นรายบทของความตกลงฯว่าเรื่องใดบ้างจะได้เปรียบเสียบเปรียบ” น.ส.กรรณิการ์กล่าว
ขณะเดียวกัน การศึกษาของทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐน้อยเกินไป และมักอ้างว่าจะไปเจรจาผ่อนผันทั้งช่วงเวลาและวงเงิน อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ไทยเป็นประเทศที่ขอเข้าร่วมในภายหลัง โอกาสที่จะได้สิทธิ เช่นเดียวกับมาเลเซียและเวียดนามนั้น เป็นเรื่องยากมาก อีกทั้งไทยก็ถูกจัดให้เป็นประเทศที่สถานะทางเศรษฐกิจดีกว่าเวียดนามด้วย
นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯยังเห็นว่าไทยไม่มีความพร้อมในการเข้าร่วม CPTPP เพราะขณะนี้ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการไทยเท่านั้นที่ไม่พร้อม แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่พัสดุที่ต้องประสานกับผู้ประกอบการต่างชาติก็ไม่พร้อมด้วย
น.ส.กรรณิการ์ ย้ำว่า หากไทยต้องเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงขึ้นจากการต้องให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตาม UPOV1991 และแม้ว่ากรมวิชาการเกษตรจะสนับสนุนความตกลงดังกล่าว แต่ในที่ประชุมอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้แสดงความกังวลว่า ความตกลงฯนี้จะทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงขึ้น แต่ถูกรองนายกฯสมคิดตัดบท ขณะที่ผู้ได้รับประโยชน์จากความตกลงนี้ คือ กลุ่มทุนเกษตรยักษ์ใหญ่ที่รัฐบาลหารือและขอความเห็นตลอดเวลา
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage