ปธ.ศาลฎีกา ออกข้อแนะนำแนวปฏิบัติช่วงโควิด-19 ระบาด ชี้จำเป็นต้องกำหนดโทษแก่จำเลยเหมาะสม มีผลบังคับทันทีเพื่อให้หลาบจำ แต่ควรเลี่ยงส่งไปรับโทษกักขังในเรือนจำ เหตุเสี่ยงเป็นพาหะเชื้อ ส่งผลเสียต่อระบบสาธารณสุข ควรนำมาตรการหลากหลายใน ป.อาญามาใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ลงนามในเอกสารคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 4) ระบุว่า ตามที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรและนายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลาที่ระบุในข้อกำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้นนั้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประธานศาลฎีกาจึงออกคำแนะนำดังต่อไปนี้ การใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษแก่จำเลยซึ่งกระทำความผิดฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลาที่กำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ศาลพึงคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการออกข้อกำหนดว่า เป็นไปเพื่อป้องกันมิให้ประชาชนไปประกอบกิจกรรมอันไม่พึงประสงค์อันนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส การกำหนดโทษแก่จำเลยในอัตราโทษที่เหมาะสมและมีผลบังคับโทษโดยทันที ย่อมส่งผลให้จำเลยเข็ดหลาบ ไม่กล้ากระทำความผิดอีกตลอดระยะเวลาตามข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินส่งผลดีต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และส่งผลต่อประชาชนโดยทั่วไปที่จะยับยั้งชั่งใจ และระมัดระวังที่จะไม่กระทำความผิดในฐานดังกล่าว
แต่ในภาวะเช่นนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงการส่งจำเลยเข้าไปรับโทษกักขังในสถานที่กักขังหรือจำคุกในเรือนจำ เพราะเป็นการเสี่ยงที่จำเลยจะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสไปแพร่ระบาดในสถานที่กักขังหรือเรือนจำ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อระบบสาธารณสุขโดยรวมของประเทศ จึงสมควรที่ศาลจะได้นำมาตรการที่มีอยู่หลากหลายในประมวลกฎหมายอาญามาใช้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในทางลงโทษผู้กระทำความผิดและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/