มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์เผยมีพนักงานบริการเเค่ 60% ใช้สิทธิลงทะเบียน 'เราไม่ทิ้งกัน' อีก 35% เข้าไม่ถึงสิทธิใด ๆ เรียกร้องรัฐเยียวยา ปชช.ทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เว้นแรงงานข้ามชาติ-บุคคลบนพื้นที่สูง-บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน พร้อมเสนองดเก็บค่าน้ำ-ไฟฟ้า อย่างน้อย 3 เดือนในบ้านพักอาศัย ให้กระจายอำนาจชุมชนมีส่วนร่วมช่วยเหลือจัดการ
จากสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัวลงตามคำสั่งของรัฐบาล โดยสถานบริการเป็นหนึ่งในที่แรก ๆ ที่ถูกสั่งปิดตั้งแต่ 18 มี.ค. ซึ่งการสั่งปิดสถานบริการนี้ทำให้พนักงานบริการจำนวนมากได้รับผลกระทบและขาดรายได้
ล่าสุดมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานในด้านการคุ้มครองและปกป้องสิทธิของพนักงานบริการได้ออกแถลงการณ์ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาพนักงานบริการที่ได้รับผลกระทบรวมถึงเยียวยาประชาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
น.ส.ไหม จันทร์ตา ตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวถึงรายละเอียดในแถลงการณ์ของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ว่า ในที่สุดพนักงานบริการก็เท่าเทียมจากสถานการณ์โควิด-19 สถานบริการเป็นหนึ่งในที่แรก ๆ ที่ถูกสั่งปิดตั้งแต่ 18 มี.ค. เราพบว่าพนักงานบริการต้องขาดรายได้ พนักงานบริการจำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ที่ทำให้พนักงานบริการมีความผิด ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นแรงงานและมีนายจ้างที่ใช้อ้างไม่รับผิดชอบในการทำประกันสังคมให้ ผลกระทบจากการขาดรายได้ครั้งนี้ไม่ใช่แค่พนักงานบริการเพียงเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่รวมไปถึงคนในครอบครัวของพนักงานบริการ เพราะว่าพนักงานบริการเป็นหัวหน้าครอบครัวเกือบ 100% พนักงานบริการผู้หญิง 80% เป็นแม่ เป็นเสาหลักของครอบครัว
รัฐบาลมีนโยบายเปิดให้ลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” ออกมาช่วยเหลือในครั้งนี้ พนักงานบริการคนไทยสามารถลงทะเบียนได้ ซึ่งมีพนักงานบริการลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกันถึง 60% จึงเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลยอมรับว่าเราเป็นแรงงานหนึ่ง แต่ยังมีพนักงานบริการบางกลุ่มที่ยังลงทะเบียนรับการช่วยเหลือไม่ได้ 35% เนื่องจากเป็นเป็นแรงงานข้ามชาติ กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน เเละ 5% เป็นผู้มีประกันสังคมมาตรา 33
ตัวเเทนพนักงานบริการ กล่าวต่อว่า บางคนโชคดีมีเงินเก็บพอใช้ในช่วงนี้ได้ แต่บางคนไม่มี ถึงมีเงินเก็บ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะส่งให้ทางบ้าน หลายคนกังวลใจที่ไม่มีค่าเช่าที่พัก ค่าอาหาร หนี้สิน รวมถึงเงินค่าเทอมลูกที่กำลังจะเปิด บางคนถึงจะกักตัวอยู่คนเดียว แต่ก็มีหลายเรื่องที่ต้องจัดการ ช่วยลงทะเบียนให้คนในครอบครัว บางคนต้องดูแลซื้อยาให้พ่อแม่ บางคนเป็นห่วงพ่อที่อยู่ในเรือนจำ บางคนน้องไม่สบาย ลูกไม่สบาย งานเหล่านี้ไม่เคยหยุด แม้เงินหมด ตอนนี้ในกลุ่มพนักงานบริการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกันเอง โดยส่งอาหารแห้งไปให้เพื่อนที่อยู่ต่างจังหวัดเพราะหลายคนกลับบ้านไม่ได้
“มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐต้องครอบคลุมถึงทุกคนทุกกลุ่ม การลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือต้องได้รับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติหรือบุคคลบนพื้นที่สูง บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ให้มีการกระจายอำนาจให้ชุมชนมีส่วนร่วมเข้าไปช่วยเหลือและจัดการ จัดสรรงบประมาณที่มีอยู่ในส่วนของจังหวัดให้สามารถใช้ในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที รัฐต้องจัดการให้ทุกกระทรวงเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือมากขึ้น รัฐต้องเร่งเข้าช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ถือบัตรประชารัฐ เกษตรกรที่อยู่ในการดูแลของรัฐอยู่แล้ว รัฐต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลดภาระต่างๆ เช่น ค่าหอพักเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคนไม่มีที่อยู่อาศัย งดเก็บค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าอย่างน้อย 3 เดือนที่เป็นบ้านพักอาศัย การจัดการปัญหาทุกอย่างจะต้องเท่าเทียมและยุติธรรมไม่เลือกปฏิบัติในการช่วยเหลือ” น.ส.ไหมระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/