'ทูตพาณิชย์' ณ เมืองชิงต่าว ถอดบทเรียนธุรกิจ ‘ร้านอาหาร’ ในจีน ฝ่าวิกฤตโควิด-19 พบ 91% หันมาเน้นให้บริการแบบ ‘เดลิเวอรี่’ ขายวัตถุดิบอาหารกึ่งสำเร็จรูป เปิดจองข้าวกล่องล่วงหน้า พร้อมแนะผู้ประกอบการไทยให้พนักงานในร้านทำหน้าส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ควบคู่ไปด้วย เพื่อรักษาการจ้างงานและไม่สูญเสียค่าจ้างแบบเปล่าประโยชน์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. น.ส.ชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดทำรายงานเชิงวิเคราะห์ ‘ผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ต่อธุรกิจร้านอาหารแฟรนไชส์จีน’ ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มแฟรนไชส์จีนต้องปรับตัวและหันมามุ่งเน้นการให้บริการแบบเดลิเวอรี่มากขึ้น
สำหรับรายงานดังกล่าวได้อ้างผลสำรวจของสมาคมแฟรนไชส์และเชนสโตร์ของจีน (CCFA) ซึ่งได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างบริษัทอาหารและเครื่องดื่มแฟรนไชส์ 71 ราย อาหารและเครื่องดื่ม 201 แบรนด์ ซึ่งมีจำนวนร้าน 61,593 ร้าน มีพนักงานรวม 1.3 ล้านคน โดยพบว่า ในเดือนม.ค.2563 กลุ่มตัวอย่างมียอดขายลดลง 0-30% และในเดือนก.พ.2563 ยอดขายลดลง 80-100% แต่ยังต้องมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ได้แก่ ค่าเช่าสถานที่ และเงินเดือนพนักงาน
ทั้งนี้ แม้ว่ากลุ่มตัวอย่าง 67.9% ระบุว่า ค่าเช่าสถานที่ลดลง เนื่องจากศูนย์การค้าเว้นค่าเช่าให้แก่ผู้ประกอบการเฉลี่ยประมาณ 12 วัน แต่พบว่าตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 จนถึงกระทั่งสิ้นเดือนก.พ.2563 กลุ่มตัวอย่าง 5.6% เริ่มปรับลดพนักงานออก และกลุ่มตัวอย่าง 53.5% ปรับลดเงินเดือนพนักงาน ผลสำรวจยังพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 5% ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะเปิดร้านต่อ และกลุ่มตัวอย่าง 79% ต้องใช้เงินทุนสำรองของตนเองเพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อได้อีก 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม หลังการระบาดของไวรัสฯเริ่มคลี่คลายลง พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 91.6% หันมาพึ่งพาการทำเดลิเวอรี่มากขึ้น โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 73.2% พยายามขยายและพัฒนาการให้บริการผ่านธุรกิจเดลิเวอรี่ และมากกว่า 40% ของกลุ่มตัวอย่าง เริ่มหันมาจำหน่ายวัตถุดิบอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเปิดรับจองอาหารกล่องล่วงหน้า
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างบางรายเริ่มใช้รูปแบบการจัดส่งสินค้าโดยไร้คน โดยการนัดหมายสถานที่และเวลาเพื่อรับ-ส่งสินค้า โดยผู้สั่งสินค้าและผู้ส่งสินค้าไม่ได้พบปะกัน เพื่อตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคได้มากขึ้น ขณะที่ร้านอาหารส่วนใหญ่จะเปิดร้านให้บริการต่อไปตามเงื่อนไขและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่รัฐบาลกำหนด โดยกลุ่มตัวอย่าง 60% ระบุว่า จะยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างแบรนด์ค้าปลีก
น.ส.ชนิดา เสนอว่า บทเรียนของการปรับตัวของภาคธุรกิจร้านอาหารของจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการถูกสั่งปิดร้านอาหารและเครื่องดื่มชั่วคราว จนต้องหันมาพึ่งรายได้จากบริการเดลิเวอรี่มากขึ้น และมีการนำเอาเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการจัดส่งสินค้าในขั้นตอนสุดท้ายนั้น เป็นสิ่งที่ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยน่าจะนำมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนการให้บริการเป็นแบบเดลิเวอรี่
“การปรับเปลี่ยนการให้บริการเป็นแบบเดลิเวอรี่ พร้อมทั้งให้พนักงานที่ให้บริการภายในร้านไปปฏิบัติงานเป็นพนักงานส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ควบคู่ไปด้วย นอกจากจะช่วยรักษาการจ้างงานแล้ว ยังทำให้ไม่มีการสูญเสียต้นทุนค่าจ้างแบบเปล่าประโยชน์ และผู้ประกอบการไทยสามารถนำเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นต่างๆที่ให้บริการฟรีบนมือถือมาใช้ในการโฆษณา และให้ส่วนลดค่าบริการเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้ใช้บริการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ได้ด้วย” รายงานระบุ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage