คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้พิจารณาแผนปฎิบัติการประจำปี 2563 โดยยกประเด็นผลกระทบสิทธิมนุ
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ในการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านบริหาร ครั้งที่ 14/2563 กสม. ได้มีการพิจารณาแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2563 ตามยุทธศาสตร์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2565 และได้มีการอภิปรายถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนแผนปฏิบัติการเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้กำหนดประเด็น ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด 19 เป็นเรื่องสำคัญในการปฏิบัติงานของปีนี้
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสม. ได้หยิบยกประเด็นผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งนอกจากจะมีผลกระทบต่อสิทธิในสุขภาพแล้ว ยังมีผลกระทบด้านอื่น ๆ ทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิแรงงาน มาตรฐานขั้นต่ำในการดำรงชีพอย่างสมศักดิ์ศรี (minimum standards of living) ตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แล้ว ยังมีผลกระทบต่อกลุ่มผู้เปราะบางในสังคมหรือกลุ่มคนชายขอบที่บุคคลเหล่านี้อาจเข้าถึงหรือได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐในการป้องกันและเยียวยาได้ไม่เต็มที่ เช่น ผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง คนพิการ คนไร้บ้าน ทั้งที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่ แรงงานข้ามชาติและแรงงานนอกระบบ ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการประมวลข้อมูลจากเครือข่าย และหากมีความจำเป็น ก็อาจมีการจัดตั้งกลไกเฉพาะเพื่อการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างเป็นระบบ
“แม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่ม แต่ กสม. เห็นว่า จะส่งผลกระทบในระยะยาวเมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไปด้วย จึงมีความจำเป็นที่ กสม. จะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเป็นระบบ ร่วมสร้างความตระหนักแก่ภาคส่วนต่าง ๆ และหากมีความจำเป็นเร่งด่วน ก็อาจมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเยียวยาได้ทันท่วงที ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยในสังคมที่จะต้องร่วมมือกันในยามวิกฤตินี้ และต้องช่วยกันมิให้มีใครถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง” ประธาน กสม. กล่าว