นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน ระบุ ‘ร้านขายยา’ ช่วยรับมือ ‘โควิด-19’ สร้างความมั่นใจประชาชน ลดภาระโรงพยาบาล
ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ร้านขายยามีศักยภาพและมีส่วนสำคัญในการดูแลประชาชนท่ามกลางการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Covid–19) โดยเฉพาะเมื่อประชาชนเกิดความตื่นตระหนก (Panic) ก็มักจะคิดถึงโรงพยาบาล แต่ทุกวันนี้หลายคนก็ไม่กล้าไปเนื่องจากมองว่าโรงพยาบาลคือจุดเสี่ยง ฉะนั้นหากทำให้ร้านขายยาเป็นกลไกการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ช่วยติดตามประชาชนกลุ่มเฉพาะ ก็จะช่วยลดภาระของโรงพยาบาล และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง
“เวลาคนไข้เข้ามาที่ร้านยา เขามักจะแสดงความกังวลว่าตัวเองมีไข้หรือไม่ ร้านยาก็จะช่วยคัดกรอง ประเมิน ซักประวัติว่าเขามีความเสี่ยงหรือไม่ มีประวัติการสัมผัสโรคหรือเปล่า และสามารถบอกเขาได้ว่าแม้จะมีไข้แต่ไม่เข้าข่ายความเสี่ยงของโควิด-19 รวมถึงการสอนเทคนิคการล้างมือ การใช้ชีวิตในชุมชน ความจำเป็นในการใช้หน้ากากและการใช้งานที่ถูกต้อง” ภญ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าว
ภญ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่นำร่อง “โครงการรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน” เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีโรงพยาบาลและร้านยาเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนประชาชนก็มีความมั่นใจต่อระบบที่โรงพยาบาลผ่องถ่ายออกมา อย่างไรก็ตามในวันที่ 31 มี.ค.นี้ จะเป็นวันสุดท้ายที่เปิดรับโรงพยาบาลและร้านยาเข้าร่วมโครงการ ดังนั้นจะได้ข้อสรุปการดำเนินงานที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่เบื้องต้นชัดเจนว่าจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งผู้ให้และผู้รับบริการเกินเป้าหมายที่วางไว้แล้ว
“สถานการณ์โรงพยาบาลแออัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไข้โรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่องเข้าไปรับยาที่โรงพยาบาล ตรงนี้หากโรงพยาบาลมีข้อมูลที่ชัดเจนและสามารถกระจายคนไข้ออกไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้ ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ” ภญ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าว
สำหรับนโยบาย “โครงการรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน” ในเฟสต่อไป คิดว่าจำเป็นต้องหารือร่วมกันในเชิงยุทธศาสตร์ว่า จะดำเนินงานเพื่อไปสู่เป้าหมายลดความแออัดและระบายคนไข้ออกไปรับยาที่ร้านยาได้ 20% ของคนไข้ทั้งหมด เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับข้อจำกัดของแต่ละโรงพยาบาลด้วย จึงต้องมาพูดคุยกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถส่งคนไข้ออกมาได้