‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ประเมินผลกระทบจากการระบาดของ ‘ไวรัสโคโรน่า’ ดันหนี้เสียแบงก์ไตรมาส 1/63 แตะ 3.05-3.10% ขณะที่การปล่อยสินเชื่อใหม่ยังอ่อนแอ ตามการใช้จ่ายในประเทศ-การส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะเรื่อง ‘ลดดอกเบี้ยกู้...ช่วยลูกค้าสู้ไวรัสโคโรน่า ท้าทายผลประกอบการแบงก์ไตรมาส 1/63’ โดยระบุว่า การที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่นำร่องลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MLR หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1% นั้น จะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีต่อประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ ที่ถูกซ้ำเติมจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า
อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 0.10-0.25%) และลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.05-0.25% แต่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในอัตราที่มากกว่า คือ 0.25% ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 1/2562 ลดลงประมาณ 0.03-0.07% ต่อปี หรือคิดเป็นผลกระทบต่อกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ในปี 2563 ประมาณ 2-5%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าต่อการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้คาดว่าหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยและสาขาธนาคารพณิชย์ต่างประเทศ) ในช่วงไตรมาส 1/2563 มีโอกาสขยับเป็น 3.05-3.10% จาก 2.98% ณ สิ้นปี 2562 และทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอาจตั้งสำรองหนี้้ด้อยคุณภาพในระดับสูงต่อเนื่อง
“แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงเฉพาะหน้า โดยเฉพาะไวรัสโคโรน่า แต่ด้วยสถานะของระบบธนาคารพาณิชย์ที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อสำหรับหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) ที่สูงกว่า 1.4 เท่าของหนี้ด้อยคุณภาพทั้งหมด อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงถึง 19.2% รวมถึงสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงมั่นใจว่าระบบการเงินไทยยังคงแข็งแกร่งและมีความสามารถที่จะรองรับความเสี่ยงต่างๆในอนาคตได้” บทวิเคราะห์ระบุ
สำหรับแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อใหม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงเดือนแรกของปี 2563 โมเมนตัมของสินเชื่อใหม่ โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วน 40% ของสินเชื่อทั้งหมด ยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง ตามภาวะการใช้จ่ายในประเทศและการชะลอตัวของการส่งออก จึงคาดว่าสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1/2563 จะขยายตัวในกรอบ 2-2.2% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2562 ที่การปล่อยสินเชื่อขยายตัว 2.2% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 3%
โดยประเภทสินเชื่อที่ยังพอเติบโตได้จะเป็นสินเชื่อรายย่อย อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เน้นกลุ่มลูกค้าที่ยังมีอำนาจซื้อ ส่วนสินเชื่อที่ให้กับลูกค้ารายใหญ่นั้น แม้จะได้รับอานิสงส์จากความต้องการสินเชื่อของลูกค้ารายใหญ่บางกลุ่ม เพื่อรองรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ผ่านการประมูลไปแล้วในปีก่อนหน้า การลงทุนใน 5G หรือขยาย/ควบรวมกิจการ แต่ก็มีโอกาสที่จะเผชิญการชำระคืนหนี้ อันจำกัดการเติบโตของยอดสินเชื่อของลูกค้ากลุ่มนี้ได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/