ประธาน กสม. ชี้แจงกรณีนักการเมืองห่วงปัญหาเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิฯ ค้างมากว่าไม่เป็นความจริง เผยได้สะสางเรื่องร้องเรียนเสร็จไปเกือบหมดแล้ว คงค้างเพียงร้อยละ 11.68 เท่านั้น
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2563 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงถึงกรณีที่มีนักการเมืองบางคนให้ข่าวต่อสื่อมวลชน ขอให้วุฒิสภาเร่งมีมติเห็นชอบรายชื่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดที่ 4 โดยระบุว่า ปัจจุบัน กสม. มีคำร้องของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนค้างพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่รอให้ กสม. ชุดใหม่เข้ามาผลักดันอย่างเร่งด่วนว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมา กสม. ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 3) ได้ดำเนินการสะสางเรื่องร้องเรียนไปเกือบหมดแล้ว โดยก่อนที่ กสม. ชุดที่ 3 จะเข้ามารับหน้าที่มีเรื่องการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่คงค้างอยู่ร้อยละ 90 และเมื่อ กสม.ชุดที่ 3 เข้ามารับหน้าที่เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2558 จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2562 ต้องพิจารณาทั้งเรื่องค้างเก่าและเรื่องเข้าใหม่รวม 3,315 เรื่อง สามารถดำเนินการเสร็จไปได้ 2,931 เรื่อง (ร้อยละ 88.42) และคงค้าง 384 เรื่อง (ร้อยละ 11.68) เท่านั้น
นายวัสกล่าวว่า ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2562 กสม. มีกรรมการลาออก 2 คน ทำให้เหลือกรรมการเพียง 3 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงไม่สามารถประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียนได้ แต่เมื่อมีการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการเป็นการชั่วคราวเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นมาจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2562 กสม. สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องร้องเรียนและร่างรายงานผลการตรวจสอบรวมทั้งข้อเสนอแนะที่รอการพิจารณาได้ถึง 392 เรื่อง
นอกจากนี้ กสม. ชุดปัจจุบันยังได้ดำเนินงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเชิงรุกอีกจำนวนมาก เช่น การขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ให้แก่ภาคเอกชน ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ การขับเคลื่อนคู่มือการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 ช่วงชั้น สำหรับนักเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัย – มัธยมศึกษาตอนปลาย การเปิดตัวหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย อาทิ บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ภาคธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูง และภาคประชาชน รวมทั้งการขับเคลื่อนงานผ่านกลไกศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนใน 6 ภูมิภาค ของ กสม. และการสร้างแกนนำเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รับรู้ เข้าใจ เท่าทัน และยืนเคียงข้างสิทธิมนุษยชน
“ที่ผ่านมา กสม. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อความเดือดร้อนของประชาชนที่มาร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยได้ปรับรูปแบบการทำงานและเร่งรัดให้มีการตรวจสอบและสะสางเรื่องร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง ปัญหาว่ามีคำร้องค้างพิจารณาอยู่มากตามที่มีผู้ห่วงกังวลนั้น จึงไม่เป็นความจริงเลย” นายวัสกล่าว