สหภาพยุโรปและยูนิเซฟออกรายงาน “ไร้เส้นกั้นการศึกษา: แนวปฏิบัติที่ดีและการถอดบทเรียนจากการจัดการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติในประเทศไทย” เพื่อเสนอตัวอย่างแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพให้เด็กข้ามชาติ
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2562 องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และสหภาพยุโรป ออกรายงานฉบับล่าสุดที่มีชื่อว่า “ไร้เส้นกั้นการศึกษา: แนวปฏิบัติที่ดีและการถอดบทเรียนจากการจัดการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติในประเทศไทย” ณ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเสนอกรณีศึกษาและแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติ
รายงานฉบับนี้รวบรวมกรณีศึกษาของการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ระนอง สมุทรสาคร ตาก และตราด ซึ่งแต่ละกรณีศึกษาชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนหลากหลายรูปแบบของการจัดการศึกษาของเด็กข้ามชาติในประเทศไทย อีกทั้งยังชี้ให้เห็นว่าการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงจากครูผู้สอน ผู้อำนวยการโรงเรียน เจ้าหน้าที่การศึกษา และภาคประชาสังคม
ดร.จูเซปเป บูซีนี รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประแทศไทย กล่าวว่า “การอพยพย้ายถิ่นของเด็กเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เด็กเหล่านี้ต้องย้ายถิ่นออกจากถิ่นกำเนิด เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างเช่น สงครามความขัดแย้ง ความอยากจน และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งยังต้องเสี่ยงกับการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก และการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กเหล่านี้ยังเข้าถึงการศึกษาได้อย่างจำกัด ซึ่งการศึกษาคือปัจจัยสำคัญในการปกป้องพวกเขาให้รอดพ้นจากภัยคุกคามเหล่านี้”
ดร. บูซีนี ได้กล่าวเพิ่มว่า “การปกป้องและคุ้มครองสิทธิของเด็กข้ามชาติเป็นเรื่องที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าเด็กข้ามชาติจะอยู่ในอยู่ในสถานะใด เด็กเหล่านี้ต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกับเด็กอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่า เราจะไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง” ดร บูซีนียังได้ย้ำว่า “การลงทุนด้านการศึกษาให้กับเด็กข้ามชาตินั้นจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากลับคืนมา ไม่เพียงแต่เด็กข้ามชาติเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ แต่ชุมชนและประเทศที่รองรับรับเด็กเหล่านี้ก็จะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน”
ปัจจุบัน มีเด็กข้ามชาติในประเทศไทยราว 150,000 คน ที่กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนของรัฐ อันเป็นผลมาจากกฎหมายและนโยบายที่ก้าวหน้าของประเทศไทย เช่น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติปี 2542 และมติคณะรัฐมนตรีปี 2548 เกี่ยวกับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ที่กำหนดให้เด็กทุกคนได้เรียนฟรี 15 ปี ไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือสถานะอะไร หรือแม้จะไม่มีเอกสารใด ๆ เลยก็ตาม
ดร. อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า “ไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยหรือเด็กชาติไหนก็ตาม หากได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว จะได้รับโอกาสทางการศึกษาตามกฎหมาย การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้เด็กทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ด้านการศึกษา และการที่มีเด็กที่มีความแตกต่างและหลากหลายในระบบการศึกษา ถือเป็นโอกาสสำคัญที่เด็กจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร สันติ และสมานฉันท์ ทั้งยังเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา”
อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กข้ามชาติประมาณ 200,000 คนที่ยังไม่ได้เข้าเรียนในปัจจุบัน เนื่องจากหลากหลายสาเหตุ เช่น การที่สังคมยังมีทัศนคติในเชิงลบต่อกลุ่มเด็กข้ามชาติ บุคลากรทางการศึกษาขาดความเข้าใจเรื่องนโยบายหรือขั้นตอนการปฏิบัติ หรือขาดการสนับสนุนที่เพียงพอในการจัดการศึกษาแก่เด็กกลุ่มนี้ นอกจากนี้ การย้ายถิ่นที่อยู่ของครอบครัวเด็กข้ามชาติ และการขาดการตระหนักรู้เกี่ยวกับบริการต่าง ๆ ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ยังคงเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาของเด็ก ๆ เช่นกัน
นายปีเตอร์ โฟร์เบล รักษาการผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “รายงานฉบับนี้ออกมาในเวลาใกล้เคียงกับการครบรอบ 30 ปีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และการมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการพิทักษ์สิทธิของประชากรกลุ่มข้ามชาติโดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ยูนิเซฟขอชื่นชมในความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่ได้จัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติ และเราพร้อมจะแบ่งปันบทเรียนจากประสบการณ์ที่ผ่านมาให้กับทุกโรงเรียน เพื่อที่จะได้ไปพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาให้แก่เด็กทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะมีพื้นฐานหรือสถานะใดก็ตาม”
รายงานฉบับนี้ ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งในประเทศไทยประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงแก่เด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยหรือเด็กข้ามชาติ ซึ่งกรณีศึกษาต่าง ๆ ชี้ให้เห็นถึงองค์ประกอบของความสำเร็จ 5 ประการ ประกอบด้วย 1) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการวางแผนและการนำนโยบายไปปฏิบัติ 2) การมีผู้นำที่เข้มแข็งมีแรงจูงใจและมีความสามารถในการสนับสนุนเด็กข้ามชาติ 3) การใช้กลยุทธ์การเรียนการสอนที่มีประสิทธิผล 4) การปรับปรุงการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน 5) การมีส่วนร่วมของชุมชนและพ่อแม่/ผู้ปกครองของเด็กข้ามชาติ
รายงานฉบับนี้ยังให้ข้อเสนอแนะเพื่อสนับสนุนการทำงานแก่กระทรวงศึกษาและหน่วยงานการศึกษาระดับท้องถิ่น ตลอดจน โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยลดอุปสรรคและจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้ พร้อมเน้นย้ำว่าการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติยังเป็นการช่วยบ่มเพาะแรงงานข้ามชาติรุ่นใหม่ให้อ่านเขียนได้ มีทักษะ และมีการศึกษา ซึ่งจะสามารถสร้างประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ การจัดการศึกษาให้แก่เด็กข้ามชาติ ยังถือเป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาด้านการเข้าถึงการศึกษาของเด็กขาดโอกาสทั่วประเทศอีกด้วย