สำนักงาน กสม. ชี้แจงกรณีสำนักข่าวแห่งหนึ่งเผยแพร่ข่าวผลกระทบจากการสรรหา กสม. ชุด 4 ล่าช้า มีความคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
ตามที่สำนักข่าวแห่งหนึ่งได้เผยแพร่บทความข่าวเรื่อง “สแกน กรรมการสิทธิฯชุดที่ 4 ทำไม? คลอดยากคลอดเย็น” เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2562 โดยมีเนื้อหาในสาระสำคัญว่า หลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดที่ 3 พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2560 กระบวนการสรรหาและคัดเลือก กสม. ชุดใหม่ ดำเนินไปอย่างล่าช้าเป็นเวลากว่า 2 ปี กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่ได้ กสม. ชุดใหม่ 7 คนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2562 เป็นต้นมา กสม. ตกอยู่ในสภาพ “แพแตก” เนื่องจากมี กสม. ลาออก และเหลือ กสม. เพียง 3 คน จาก 7 คน ทำให้องค์คณะไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ประเทศจึงไม่มีองค์กรอิสระมาทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คำร้องของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิคั่งค้างเป็นจำนวนมาก ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลกตกต่ำลง และเกิดผลกระทบในทางเสียหาย อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2562 ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดได้แต่งตั้งบุคคลมาปฏิบัติหน้าที่เป็น กสม. ชั่วคราว 4 คน จนครบ 7 คนตามกฎหมาย และทั้ง 7 คนได้ประชุมกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2562 โดยมีกำหนดประชุมร่วมกันสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พร้อมกับมอบหมายให้แต่ละคนลงพื้นที่ขับเคลื่อนงานด้านคุ้มครอง ตรวจสอบและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนใน 6 ภูมิภาค แต่ในช่วงระยะเวลา 4 เดือนครึ่ง (1 ส.ค. - 12 พ.ย. 2562) ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ถือว่าไม่มี กสม. ปฏิบัติหน้าที่ และกระบวนการสรรหา กสม. ชุดที่ 4 อาจยาวไปถึงกลางปีหรือปลายปี 2563 ซึ่งถือเป็นกรรมของประเทศ นั้น
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอเรียนว่า บทความข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ดังนี้
1. การปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. ชุดที่ 3 ในระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน
นับตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง “เซตซีโร” กสม.ชุดที่ 3 ซึ่งมีนายวัส ติงสมิตร เป็นประธานกรรมการ กสม. ชุดที่ 3 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ และ กสม. ชุดที่ 3 ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีตลอดมาจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีกรรมการลาออกอีก 2 คน เป็นเวลา 1 ปี 7 เดือนครึ่ง ขับเคลื่อนทั้งงานด้านส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานด้านคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้พิจารณาออกรายงานผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะเสร็จไปกว่าร้อยละ 80 ของเรื่องที่ค้างมาจาก กสม. ชุดที่ผ่านมา และเรื่องร้องเรียนเข้ามาใหม่ รวมแล้วประมาณ 1,000 คำร้อง
ขณะที่ กสม. ชุดที่ 3 ซึ่งเหลือกรรมการเพียง 3 คน ไม่สามารถเปิดประชุมได้เป็นเวลา 3 เดือนเศษ ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2562 จนถึงวันที่ 1 พ.ย. 2562 แต่ประธานกรรมการและกรรมการที่เหลืออยู่รวม 3 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่เท่าที่มีอำนาจตลอดมา รวมทั้งดำเนินการร่างรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนรอเสนอ กสม. พิจารณาทันทีที่เปิดประชุม กสม. ได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2562 ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดได้ร่วมกันออกคำสั่งตามที่บัญญัติไว้อันเป็นกลไกนอกเหนือจากกระบวนการสรรหาบุคคลมาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แต่งตั้งบุคคลมาปฏิบัติหน้าที่เป็น กสม. ชั่วคราว 4 คน และตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย. 2562 เป็นต้นมา กสม. ประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน ทุกวันอังคารและวันพุธ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตามที่บทความกล่าวอ้าง และใช้เวลา 3 เดือนเศษในการแต่งตั้งกรรมการชั่วคราว ไม่ใช่ 4 เดือนครึ่ง ตามที่บทความข่าวกล่าวอ้าง
2. กระบวนการสรรหาบุคคลมาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่ 4
หลังจากวันที่ 13 ธ.ค.2560 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ มีกระบวนการออกระเบียบและดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการสรรหาหลายด้านตามมาตรา 61 และคณะกรรมการสรรหาบุคคลมาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่ 4 ได้เริ่มดำเนินการสรรหาเมื่อกลางปี 2561 แล้วเสนอขอความเห็นชอบจากวุฒิสภา (มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภา) ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบเพียง 2 คน และตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2562 เป็นต้นมา อยู่ในระหว่างที่วุฒิสภาดำเนินการเพื่อให้ความเห็นชอบ คณะกรรมการสรรหาและวุฒิสภาต่างมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลหรือองค์กรใดไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปแทรกแซงหรือกดดันการดำเนินการดังกล่าวได้ และแม้จะได้ กสม. ชุดที่ 4 มาในกลางปีหรือปลายปี 2563 ก็ไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. เพราะตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย. 2562 เป็นต้นมา กสม. สามารถเปิดประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทั้งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ไม่มีปัญหาใดที่จะถือเป็นกรรมของประเทศตามที่บทความข่าวกล่าวอ้าง