นิด้าโพลเผยความคิดเห็นของประชาชน ร้อยละ 49.41 เห็นด้วยอย่างยิ่งกรณีขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลรายบุคคล และร้อยละ 51.61 เห็นด้วยอย่างยิ่ง ขอเปิดอภิปราย ทั้งคณะ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ถึงเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้วหรือยัง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6 – 7 พ.ย. 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,271 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับฝ่ายค้านที่วางแผนจะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และผลลัพธ์หากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีที่ฝ่ายค้านจะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งคณะ ในเดือนธ.ค. 2562 พบว่า ร้อยละ 51.61 ระบุว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะ การบริหารที่ผ่านมายังไม่ดีขึ้น ควรจะได้รับการตรวจสอบ การทำงาน จะได้รับรู้ถึงปัญหาต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ทำ ร้อยละ 20.22 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของรัฐบาลยังไม่สามารถทำได้ดี จึงควรมีการตรวจสอบความถูกต้องของรัฐบาล ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะทำการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอยู่แล้ว ร้อยละ 9.44 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ รัฐบาลพึ่งเริ่มทำงานควรเปิดโอกาสให้ทำงานสร้างผลงานก่อน อย่างน้อยควรจะให้เวลาสัก 2 ปี ร้อยละ 18.02 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ การทำงานของรัฐบาลภาพรวมยังดีอยู่ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลยังน้อยอยู่ เร็วเกินไปที่ฝ่ายค้านจะทำการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และร้อยละ 0.71 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีที่ฝ่ายค้านจะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รายบุคคล ในเดือนธ.ค. 2562 พบว่า ร้อยละ 49.41 ระบุว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะ รัฐมนตรีบางท่านเข้ามาทำงานไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่โปร่งใส สมควรที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีชุดใหม่ ร้อยละ 25.26 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ รัฐมนตรีบางท่านยังไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง การบริหารงานยังไม่มีผลงาน สมควรที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร้อยละ 8.81 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ รัฐมนตรีแต่ละท่านพึ่งเข้ามารับตำแหน่งควรเปิดโอกาสให้ทำงานสร้างผลงานก่อน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ฝ่ายค้านคอยจะโจมตีคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว ร้อยละ 14.32 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ ระยะเวลาการทำงานยังน้อยไป อยากให้ทำงานเต็มที่ไปก่อน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ฝ่ายค้านพยายามจะล้มรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา และร้อยละ 2.20 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนผลลัพธ์ของกรณีหากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งคณะ ในเดือนธ.ค. 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.59 ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถอยู่บริหารประเทศต่อไปได้ รองลงมา ร้อยละ 23.45 ระบุว่า ฝ่ายรัฐบาลจะชนะโหวต ร้อยละ 20.69 ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกหรือยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 10.07 ระบุว่า หลังการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จำเป็น ต้องปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 8.10 ระบุว่า ฝ่ายค้านจะชนะโหวต ร้อยละ 1.97 ระบุว่า ส.ส. ฝ่ายค้านบางส่วนจะกลายเป็นงูเห่า ด้วยการออกเสียงไว้วางใจรัฐบาล หรืองดออกเสียง ร้อยละ 1.02 ระบุว่า หลังการอภิปราย ฝ่ายค้านจะถูกมองว่าไม่มีความสามารถในการตรวจสอบรัฐบาล ร้อยละ 0.55 ระบุว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลบางส่วนจะกลายเป็นงูเห่า ด้วยการออกเสียงไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรืองดออกเสียง และร้อยละ 12.98 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงผลลัพธ์ของกรณีหากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รายบุคคล ในเดือนธ.ค. 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 24.31 ระบุว่า รัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายอยู่ในตำแหน่งต่อไป รองลงมา ร้อยละ 20.46 ระบุว่า ฝ่ายรัฐบาลจะชนะโหวต ร้อยละ 17.78 ระบุว่า หลังการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จำเป็นต้องปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 15.03 ระบุว่า รัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายลาออก ร้อยละ 13.45 ระบุว่า ฝ่ายค้านจะชนะโหวต ร้อยละ 1.73 ระบุว่า ส.ส. ฝ่ายค้านบางส่วนจะกลายเป็นงูเห่า ด้วยการออกเสียงไว้วางใจรัฐมนตรี หรือ งดออกเสียง ร้อยละ 1.02 ระบุว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลบางส่วนจะกลายเป็นงูเห่า ด้วยการออกเสียงไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี หรืองดออกเสียง ร้อยละ 0.87 ระบุว่า หลังการอภิปราย ฝ่ายค้านจะถูกมองว่าไม่มีความสามารถในการตรวจสอบรัฐบาล และร้อยละ 16.05 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ