สปสช.-รพ.สงฆ์ หารือการพัฒนาระบบดูแล “พระภิกษุสงฆ์-สามเณร” เข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพ พร้อมปรับระบบเฉพาะ เอื้อจัดบริการและส่งต่อรักษา สอดคล้องตามพระวินัย พร้อมเผยทั่วประเทศ มี รพ.ที่มีตึกสงฆ์อาพาธ 66 แห่ง ไม่เพียงพอต่อการดูแลและรับส่งต่อ ขณะที่สถานการณ์สุขภาพพระสงฆ์เข้าสู่สังคมสูงอายุ ส่วนใหญ่เจ็บป่วยโรค NCDs
ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เขตหลักสี่ กรุงเทพ – สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมบริการไร้รอยต่อ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพพระสงฆ์ โรงพยาบาลสงฆ์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสงฆ์ ร่วมประชุมและให้ข้อมูลการจัดบริการสุขภาพและการรักษาพยาบาลพระสงฆ์
นพ.ชำนิ จิตตรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเข้ารับบริการสุขภาพและรักษาพยาบาลของพระภิกษุสงฆ์มีหลักปฏิบัติที่จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัย และเนื่องจากพระภิกษุสงฆ์ยึดหลักไม่เบียดเบียนฆราวาสและไม่เกิดอาบัติในการเข้ารับบริการสาธารณสุข ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการที่จัดให้สำหรับประชาชนในโรงพยาบาลทั่วไป จึงได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสงฆ์ขึ้นและเปิดบริการเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2494 เพื่อดูแลรักษาพยาบาลพระสงฆ์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริการเฉพาะสำหรับพระภิกษุ-สามเณร จะต้องได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม ให้การดูแลพระสงฆ์โดยไม่เก็บค่ารักษา ไม่ว่าจะมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งหลังมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาได้ส่วนหนึ่ง โดยค่ารักษาส่วนใหญ่ยังเป็นเงินที่ได้จากผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาค
ปัจจุบันสถานการณ์พระสงฆ์ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สัดส่วนพระสงฆ์ที่อายุเกิน 60 ปีอยู่ที่ร้อยละ 32 ส่วนหนึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง อยู่กุฎิเพียงรูปเดียว เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วจึงไม่มีคนดูแล ดังนั้นการอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่เจ็บป่วย หากไม่จัดระบบใหม่พระสงฆ์จะเข้าไม่ถึงการดูแล นอกจากนี้ ผลการคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ในปี 2559 พบภาวะความดันโลหิตสูง ร้อยละ 29.4 เบาหวาน ร้อยละ 26.65 และโรคอ้วน ร้อยละ 23.26 เป็นต้น สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความเจ็บป่วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรค NCDs ขณะที่การบริการในส่วนของโรงพยาบาลสงฆ์ที่เบิกจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 ได้เบิกจ่ายจำนวน 44.56 ล้านบาท เป็นผู้ป่วยนอก 10,843 ราย และผู้ป่วยใน 2,971 ราย โดยในปี 2562 ได้เพิ่มเป็น 49.81 ล้านบาท เป็นผู้ป่วยนอก 12,258 ราย และผู้ป่วยใน 3,888 ราย สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงบริการที่เพิ่มขึ้น
“ในการรักษาพยาบาลพระภิกษุสงฆ์-สามเณรที่ รพ.สงฆ์ เป็นการจัดบริการตามพระธรรมวินัย แตกต่างกับการให้บริการฆราวาสทั่วไป ให้การรักษาทุกโรค หากเกินศักยภาพ รพ.สงฆ์ก็มีระบบการส่งต่อไปรับบริการเพิ่มเติม เช่นกรณีโรคร้ายแรงอย่างเช่นมะเร็งจะส่งไปฉายแสงรักษาที่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ หรือที่โรงพยาบาลวชิระ และกลับมารักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาล ซึ่งการดูแลให้พระภิกษุสงฆ์เข้าถึงบริการจะต้องมีการแยกส่วนและวางระบบบริการที่สอดคล้องพระธรรมวินัย ปัจจุบันทั่วประเทศมีโรงพยาบาล 66 แห่ง ที่มีตึกสงฆ์อาพาธเฉพาะ และใน รพ.บางแห่งได้มีการแยกชั้นบริการเพื่อดูแลพระภิกษุสงฆ์เฉพาะแต่ก็ยังไม่เพียงพอ เท่าที่ทราบขณะนี้มี รพ.หลายแห่งอยู่ระหว่างการจัดบริการเพิ่มเติม ดังนั้นเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ จำเป็นต้องมีการวางระบบบริการพระภิกษุสงฆ์และการส่งต่อเพื่อรองรับ” ผอ.รพ.สงฆ์ กล่าว
ด้าน นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า พระภิกษุสงฆ์-สามเณรเป็นกลุ่มที่เข้าถึงการบริการสุขภาพที่จัดไว้ได้ยาก จึงเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เร่งผลักดันให้เกิดการดูแลอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งจากฐานข้อมูลในระบบของ สปสช. ณ เดือน ก.ย. 2562 มีพระภิกษุสงฆ์จำนวน 144,883 รูป ในจำนวนนี้เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 134,982 รูป การทำให้พระภิกษุสงฆ์เข้าถึงบริการสุขภาพโดยใช้เครือข่ายระบบบริการและส่งต่อตามปกติเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปคงไม่ได้ ดังนั้นจะต้องมีจัดวางระบบใหม่ที่เป็นการเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นไปตามพระธรรมวินัยให้กับพระภิกษุสงฆ์ รวมถึงการวางระบบส่งต่อที่เชื่อมต่อกับโรงพยาบาล 66 แห่งที่มีตึกสงฆ์อาพาธ โดยดึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือและช่วยกันออกแบบระบบ อย่างโรงพยาบาลสงฆ์ที่มาร่วมให้ข้อมูลในวันนี้
“เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีและจะได้รับการสนับสนุน ซึ่งแต่เดิมเราอาจไม่ได้รับทราบข้อจำกัดการเข้ารับบริการสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ แต่เมื่อรับทราบแล้ว ก็จะมีการปรับระบบการส่งต่อ ระบบการเงินให้สอดคล้องกัน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว