รอง ผอ.วชิรพยาบาล ชื่นชม สปสช.จัดระบบกระจายผู้ป่วยดี ลดความแออัดโรงพยาบาล เสนอเปิดช่องให้ผู้ป่วยที่มีศักยภาพร่วมจ่ายเพื่อออนท็อปสิทธิประโยชน์ โอดอัตรา DRG ไม่พอ ส่งผลให้ รพ.เข้าเนื้อ
ผศ.นพ.ยุทธพงศ์ วงษ์มหิศร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิรพยาบาล เปิดเผยว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มีส่วนช่วยผู้ป่วยทั้งในแง่ความสะดวกและการเข้าถึงที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้รับฟังข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ แล้วนำไปปรับแก้หรือปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ เห็นได้จากกรณีของการให้ถุงหน้าท้องสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ หรือการกระจายคนไข้ เป็นต้น
ผศ.นพ.ยุทธพงศ์ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มีลักษณะเป็นโรงเรียนแพทย์ มีศักยภาพในการดูแลคนไข้ที่มีความซับซ้อนสูง แต่ที่ผ่านมามักจะมีคนไข้ปฐมภูมิเข้ามารับบริการค่อนข้างมาก ทำให้คนไข้ที่ซับซ้อนเสียโอกาสที่จะได้รับการดูแล ดังนั้นเมื่อมีโครงการร่วมกับ สปสช. ในการกระจายคนไข้กลับสู่สถานบริการปฐมภูมิพร้อมกับระบบในการส่งต่อที่ดี จะช่วยลดการคับคั่งของคนไข้ที่ไม่มีความจำเป็นต้องดูแลซับซ้อน เป็นกรณีที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยดี โดยประโยชน์ตกอยู่กับคนไข้ที่สามารถรับการดูแลใกล้บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง อีกทั้งโรงพยาบาลที่สามารถดูแลคนไข้ซับซ้อนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลมีความโดดเด่นในเรื่องของเวชศาสตร์เขตเมือง มีศักยภาพในการดูแลคนไข้ที่ซับซ้อนด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาเข้ามาดูแลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น คนไข้ฟื้นตัวได้ไวขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ในระบบของ สปสช. จะมีการพัฒนาเพื่อรองรับสิ่งเหล่านี้ แต่ก็อาจจะยังไม่ทันเพราะยังมีบางกรณีที่อยู่นอกสิทธิ ไม่ครอบคลุมคนไข้ ทำให้คนไข้ที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์การรักษาหรือผ่าตัดที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่สามารถใช้ได้ ดังนั้นที่ผ่านมาในบางครั้งทางโรงพยาบาลอาจต้องรับผิดชอบในส่วนนี้เพื่อผลการรักษาที่ดี
“หากเป็นไปได้ สปสช. น่าจะเปิดช่องทางเพื่อให้ครอบคลุมสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทั้งหมด แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ หรือในกรณีที่มีงบประมาณจำกัด ก็น่าจะเปิดโอกาสให้คนไข้ที่มีศักยภาพหรือมีกำลัง สามารถที่จะร่วมจ่ายเพื่อให้เขาได้สิ่งที่ดีที่สุด หรือผลการรักษาที่ดีที่สุด ตามเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากขึ้น คนไข้ก็สามารถกลับไปทำงาน สร้างผลงานให้กับสังคมต่อได้ ส่วนโรงพยาบาลก็จะลดจำนวนการครองเตียงลง สามารถเปิดรับคนไข้ใหม่ๆ ที่รอการรักษาเพิ่มได้มากขึ้น” ผศ.นพ.ยุทธพงศ์ กล่าว
ผศ.นพ.ยุทธพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าค่าใช้จ่ายที่ สปสช. ให้มานั้นยังคงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะงานผู้ป่วยใน (IPD) ในโรงเรียนแพทย์ที่มักจะต้องรับคนไข้ที่มีความซับซ้อน มีภาวะแทรกซ้อน มีความยากต่าง ๆ ซึ่งทำให้ใช้ทรัพยากรค่อนข้างเยอะตามไปด้วย แต่เมื่อระบบของ สปสช. จะจ่ายตามสรุปเวชระเบียน หรือ DRG เช่น ในช่วงต้นปีมีงบประมาณ 8,000 บาทต่อ DRG แต่เมื่อถึงปลายปีขอลดลงเหลือ 5,000-6,000 บาทต่อ DRG เท่ากับว่าจากที่คำนวณไว้ว่างบน่าจะพอ ความเป็นจริงกลับน้อยกว่านั้น
“สะท้อนให้เห็นว่าเงินที่ สปสช.ส่งมามันอาจไม่เพียงพอ ฉะนั้นต้องยอมรับว่า IPD โดยเฉพาะในโรงพยาบาลอย่างโรงเรียนแพทย์ที่มีความซับซ้อน มักจะเข้าเนื้อ คือเมื่อคำนวณแล้วส่วนใหญ่เรามักจะต้องจ่ายมากกว่าที่เราได้ และอีกเรื่องที่กลายเป็นปัญหาคือคนไข้ห้องฉุกเฉิน โดยเฉพาะคนไข้อายุรกรรม เมื่อมีจำนวนเตียงไม่เพียงพอที่จะรับเป็นคนไข้ใน ทำให้มีคนไข้คับคั่งอยู่ที่ห้องฉุกเฉินเป็นจำนวนมาก ซึ่งคิดว่าในโรงพยาบาลใหญ่ๆ น่าจะเป็นเหมือนกันหมด” ผศ.นพ.ยุทธพงศ์ กล่าว
ผศ.นพ.ยุทธพงศ์ ยังกล่าวว่า อีกหนึ่งปัญหาที่มีกับระบบ สปสช. คือเรื่องของการเบิกจ่ายคนไข้ในกลุ่มดังกล่าว ซึ่ง สปสช. กำหนดว่านอนมากกว่า 6 ชั่วโมงสามารถเบิกเป็นคนไข้ในได้ แต่ประเด็นคือการใช้หลักฐานเอกสารที่เป็นเวชระเบียนต่างๆ หากจะเบิกเงินให้ได้ตามระบบอาจต้องหาเจ้าหน้าที่มาดูแลเรื่องเอกสารมากขึ้น แทนที่จะสามารถไปดูแลคนไข้ให้เต็มที่
อย่างไรก็ตาม ผศ.นพ.ยุทธพงศ์ ยืนยันว่า คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ให้บริการกับผู้ป่วยผู้ป่วยในทุกสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งแยกว่าสิทธิใดมาก่อน สิทธิใดได้ช่องทางที่แตกต่าง แต่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หรืออาการของคนไข้ โดยถือว่าคนไข้ที่มารับบริการทุกคนคือคนไข้เท่ากัน