องค์การยูนิเซฟ ประกาศการนำเครื่องบินบรรทุกสิ่งของช่วยเหลือจำเป็นกว่า 1.5 ตัน สู่เมืองแนสซอเพื่อช่วยเด็กและครอบครัวกว่า 9,500 คนที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากหลังพายุเฮอร์ริเคนพัดถล่มได้เข้าถึงน้ำสะอาด
การลำเลียงสิ่งของช่วยเหลือที่จำเป็นจากยูนิเซฟในครั้งแรกนี้จะขนส่งโดย สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (The International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies) หรือ IFRC ซึ่งจะประกอบด้วยเม็ดทำน้ำสะอาดจำนวนกว่า 400,000 เม็ด แท็งก์น้ำขนาด 5,000 ลิตรสำหรับผู้ประสบภัยอย่างน้อย 2,000 คน ถังบรรจุน้ำ 1,000 อัน พร้อมกับแผนแจกจ่ายสิ่งของจำเป็นเหล่านี้ไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในไม่กี่วันข้างหน้านี้
ยูนิเซฟเผยว่า ในขณะนี้ เด็ก ๆ ราว 18,000 คน ในเขตพื้นที่เมืองอาบาโก และเมืองแกรนด์ บาฮามา ของประเทศบาฮามาส กำลังได้รับผลกระทบหลังจากที่พายุเฮอร์ริเคนโดเรียนเข้าถล่ม และต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน ตัวเลขประมาณการขั้นต้นนี้มาจากสำนักงานจัดการภัยพิบัติฉุกเฉินประจำเขตพื้นที่แคริบเบียน (Caribbean Disaster Emergency Management Agency) หรือ CEDMA โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา องค์การยูนิเซฟ ประเทศบาฮามาส สามารถเข้าถึงเมืองอาบาโก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกพายุเฮอร์ริเคนโดเรียนเข้าถล่มหนักที่สุดสำเร็จแล้ว ทีมช่วยเหลือได้พบกับภาพของความเสียหายที่รุนแรงในวงกว้าง ทั้งในพื้นที่เมืองมาร์ช ฮาร์เบอร์ และพื้นที่โดยรอบ โรงเรียน และโรงพยาบาลหลายแห่งต่างพังราบ บ้านเรือนและถนนจำนวนมากเสียหาย และยังมีรถและเรือพัดมาติดกับต้นไม้หลายจุด
ยูซุฟ อับเดล เจลิล รองผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน กล่าวว่า “เด็ก ๆ และครอบครัวที่รอดชีวิตจากพายุเฮอร์ริเคนต้องสูญเสียบ้านเรือน ที่พักอาศัย บางรายต้องสูญเสียญาติพี่น้อง และเหลือเพียงน้ำและอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พวกเขาก็กำลังรอคอยความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนอยู่ ถึงตอนนี้เวลาผ่านไปเกือบ 5 วันแล้วหลังจากพายุพัดถล่ม น้ำดื่มสะอาดนั้นกลายเป็นสิ่งจำเป็นและมีค่าที่สุดในการรักษาชีวิตให้รอดในขณะนี้ โดยเฉพาะสำหรับแม่และเด็ก”
การตรวจสอบทางอากาศและการประเมินสถานการณ์เบื้องต้นพบว่า สถานการณ์น้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่อน้ำที่ใช้ในการสาธารณูปโภคและระบบสุขอนามัยในเมืองอาบาโกและพื้นที่ของเมืองแกรนด์บาฮามา การขาดแคลนน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ไม่เพียงพอ ทำให้เด็ก ๆ และครอบครัวตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะติดโรคระบาดที่เกิดจากน้ำ “การประเมินความเสียหายอย่างเต็มรูปแบบยังคงดำเนินต่อไป แต่ผลจากการติดตามเบื้องต้นพบว่า พื้นที่บางส่วนของเมืองอาบาโก ถนนหลายเส้น ท่าเรือหลายแห่ง และระบบขนส่วนหลายจุด มีทั้งเสียหายบางส่วนและเสียหายทั้งหมด โครงสร้างพื้นฐานที่เสียหาย ทำให้การขนส่งสิ่งของช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ซึ่งครอบครัวผู้ประสบภัย โดยเฉพาะเด็ก ๆ ในกลุ่มเสี่ยงนั้น เป็นกลุ่มที่เข้าถึงได้ยากที่สุด” ยูซุฟ กล่าว
ภายหลังจากที่พายุเฮอร์ริเคนโดเรียนพัดถล่ม ทีมงานของยูนิเซฟได้ลงพื้นที่ในบาฮามาสเพื่อเข้าช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว โดยเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินภารกิจการประเมินเร่งด่วนร่วมขององค์การสหประชาชาติในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดอย่างเมืองอาบาโก และมาร์ช ฮาร์เบอร์ เพื่อประเมินการเข้าถึงหน่วยบริการหลัก ๆ อย่างสาธารณสุข การศึกษา และที่พักพิงเพื่อผู้ประสบภัย ซึ่งยูนิเซฟกำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลในการเริ่มการจัดส่งสิ่งของจำเป็นไปให้กับครอบครัวจำนวนมากให้ได้เร็วที่สุด รวมทั้งร่วมมือกันทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติ และภาคีทางด้านมนุษยธรรมอื่นอีกหลายแห่ง อาทิ สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (The International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies หรือ IFRC)
ยูนิเซฟกำลังระดมทุนจำนวน 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและให้ความช่วยเหลือแก่เด็ก ๆ และครอบครัวจำนวนมากทั่วประเทศบาฮามาสที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด ทั้งในด้านการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด สุขอนามัย โภชนาการอาหาร การให้การสนับสนุนเชิงจิตสังคม รวมทั้งกิจกรรม ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กอีกด้วย
ช่องทางการบริจาค
ออนไลน์: https://help.unicef.org/hurricane-dorian?language=th
โอนผ่านบัญชีธนาคาร: ธนาคารกรุงเทพ หมายเลขบัญชี 201-3-01324-4
กรุณาส่งข้อมูลติดต่อ (ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์) พร้อมใบสลิปมาที่ยูนิเซฟ โดยระบุ “พายุเฮอร์ริเคนโดเรียน” มาที่ [email protected] หรือแฟ็กซ์ 02 356 9229
###
สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคได้ที่
นุชรัตน์ ดวงจินดา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย 02 356 9299, 085 830 5553, [email protected]
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
วรวุฒิ ชูมณี องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย 093 442 8289 หรือ [email protected]