บอร์ด สปสช.ไฟเขียว 1 ต.ค. “ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา” ลดความแออัดใน รพ. ประเดิมนำร่อง 50 รพ. ร้านยา 500 แห่ง ดูแลผู้ป่วย 4 โรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด จิตเวช พร้อมเร่งออกประกาศกำหนดค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ฯ รองรับ ด้าน “อนุทิน” ย้ำต้องมีกระบวนการติดตามประเมินผล
ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบตามข้อเสนอดำเนินงานเพื่อรองรับนโยบาย รมว.สาธารณสุข ให้ “ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล” ตามที่คณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์นำเสนอ เพื่อพัฒนาระบบบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หากมีความพร้อมทุกด้านให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 นี้
การดำเนินงานนโยบายนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอยานานและได้รับคำแนะนาการใช้ยาอย่างมีคุณภาพ โดยเริ่มนำร่องในปีงบประมาณ 2563 ในโรงพยาบาลไม่เกิน 50 แห่ง ร้านยาไม่เกิน 500 แห่ง และจะทยอยเพิ่มเติมในปีถัดไป เบื้องต้นกำหนดขอบเขตการจ่ายยาให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด จิตเวช หรือโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล โดยให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ป่วยที่จะรับยาที่ร้านยา และยาที่ผู้ป่วยได้รับจากร้านยาต้องเป็นยาเดียวกับที่ได้รับจาก รพ. ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติม คาดว่าจะมีประมาณร้อยละ 30 ของผู้รับบริการ
ส่วนการดำเนินงานระหว่างเครือข่าย รพ.และร้านยา กำหนด 3 ทางเลือก โดย รพ.ยังเป็นผู้รับผิดชอบยาและได้รับการชดเชยค่ายาเหมือนเดิม คือ 1 รพ.จัดยารายบุคคลส่งให้ร้านยา ไม่ช่วยลดภาระงานของ รพ. 2 รพ.จัดสำรองยาไว้ที่ร้านยา เป็นเหมือนคลังยาของ รพ. ช่วยลดภาระงานที่ รพ. ได้ แต่มีภาระการดูแลคลังยาย่อยที่ร้านยา และ 3. ร้านยาดำเนินการจัดการด้านยาเอง แต่ต้องมีราคายามาตรฐานที่ รพ.จ่ายให้กับร้านยา ส่วนจะเป็นรูปแบบใดให้ขึ้นอยู่กับ รพ.ตกลงกับร้านยา โดยงบประมาณที่ใช้นำร่องนโยบายในปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 153 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ของร้านยา 70 บาทต่อครั้ง (อ้างอิงตามประกาศค่าบริการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2560) และค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ของหน่วยบริการร่วมกับร้านยา เหมาจ่ายอัตรา 33,000 บาทต่อร้านยา 1 แห่งต่อปี
นายอนุทิน กล่าวว่า นอกจากนี้ในวันนี้ บอร์ด สปสช.ยังได้อนุมัติหลักการให้ใช้เงินกองทุน “รายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม” ที่เป็นการคาดการณ์งบประมาณคงเหลือของเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2562 จำนวนไม่เกิน 399 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานนำร่องตามนโยบายนี้ พร้อมเห็นชอบเสนอต่อ รมว.สาธารณสุขประกาศกำหนดค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สาหรับร้านยา และค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ของหน่วยบริการร่วมกับร้านยา เป็นค่าใช้จ่ายอื่นตามข้อ 3(1) แห่งคำสั่ง คสช.ที่ 37/2559 และข้อ 18(7) แห่งประกาศ กสธ.ที่ออกภายใต้คาสั่ง คสช.ที่ 37/2559 เพื่อให้มีกฎหมายรองรับการดำเนินงาน
“จากนโยบายนี้ผู้ป่วยยังคงพบแพทย์เหมือนเดิม มารับการตรวจตามนัดที่ รพ.เหมือนเดิม แต่ผู้ป่วยจะสามารถเลือกได้ว่าจะรับยาที่ห้องยาของ รพ. หรือจะรับยาที่ร้านยาตามใบสั่งแพทย์ หากผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาก็ไม่ต้องมารอคิวเพื่อรับยานานเป็นชั่วโมง แถมยังสามารถซักถามหรือขอคำแนะนำการใช้ยากับเภสัชกรที่ร้านยาได้ ขณะเดียวกันยังช่วยลดความแออัดผู้ป่วยใน รพ.ลงได้ นับเป็นการพัฒนาระบบบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ต้องมีการประเมินผลเพื่อดูประสิทธิผลนโยบายนี้” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่ รมว.สาธารณสุข ได้มอบนโยบายนี้ในการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา สปสช.ได้รับมอบนโยบาย โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม ในการเตรียมระบบรองรับ อาทิ ระบบขึ้นทะเบียนร้านยาของ รพ.เข้าร่วมเป็นหน่วยร่วมให้บริการด้านเภสัชกรรม ระบบการจ่ายชดเชยบริการ จ่ายให้ร้านยาต่อครั้งบริการ และจ่ายให้ รพ.เป็นเหมาจ่ายตามจำนวนร้านยา ระบบข้อมูลยืนยันตัวตนผู้ป่วยและระบบเบิกจ่ายชดเชย ระบบเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยและร้านยา ระบบกำกับติดตามประเมินผลภาพรวมโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และระบบกำกับติดตามคุณภาพบริการร้านยาโดยสภาวิชาชีพ รวมทั้งการทบทวนระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามนโยบาย
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อม รพ.และร้านยาที่เข้าร่วมดำเนินการ โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มี รพ.เข้าร่วม 35 แห่ง ร้านยา 141 แห่ง ผลสรุปจากการประชุมต่างเห็นพ้องว่าเป็นแนวทางที่ดีเพื่อลดความแออัดใน รพ.ได้ โดยได้รับความสนใจอย่างมาก ซึ่งมี รพ.หลายแห่งพร้อมเริ่มดำเนินการทันที อาทิ รพ.ระยอง, รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์, รพ.สวนปรุง, รพ.ชลบุรี เป็นต้น รพ.เลิดสิน, รพ.นพรัตน์ และ รพ.ราชวิถี เป็นต้น