คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย แถลงการณ์ กรณี วุฒิสภา ลงมติไม่เห็นชอบ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี-นายชาตรี อรรจนานันท์ ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งข้อสังเกต ลงคะแนนเป็นกลุ่มก้อน แนะ สว. อิสระ - สุจริต - โปร่งใส - ตรวจสอบได้ เรียกร้อง เปิดเผยกระบวนการคัดเลือกทุกขั้นตอน ประณามกระบวนการแทรกแซงการทำงานของวุฒิสภาจากฝ่ายการเมือง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 19 มีนาคม 2568 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์กรณีที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) เมื่อวันที่ 18 มี.ค.68 ประชุมลับและลงมติไม่เห็นชอบให้ศาสตราจารย์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อสังเกตของการลงมติของ สว. ดังนี้
อ่านประกอบ : วุฒิสภา ตีตก ‘สิริพรรณ-ชาตรี’ ไม่เห็นชอบ นั่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันอังคารที่ 18 มีนาคม 2568 มีการประชุมลับ ของวุฒิสภา เพื่อพิจารณาการโหวตเห็นชอบตุลาการศาล ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 204 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
ผลปรากฎว่าที่ประชุมวุฒิสภาใช้เวลาร่วมสามชั่วโมงและสุดท้ายวุฒิสภามีมติไม่ให้ความเห็นชอบ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุลและอดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เข้าไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคะแนนเสียงโหวตเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงสมาชิกวุฒิสภาที่ปฏิบัติหน้าที่
มีรายงานว่า เมื่อเข้าสู่การประชุมลับ การประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียดโดยเฉพาะตอนอภิปรายเรื่องคุณสมบัติและความเหมาะสมของ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน โดย มีสมาชิกวุฒิสภาลุกขึ้นอภิปรายจำนวนมาก ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 113 กำหนดว่า สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด ๆ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เห็นว่าการลงคะแนนเสียงของวุฒิสภามีข้อที่น่าสังเกตดังนี้
1.สมาชิกวุฒิสภาที่ลงมติไม่เห็นชอบผู้ที่ผ่านการสรรหา ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี และนายชาตรี อรรจนานันท์ มีจำนวน 136 และ 115 คน งดออกเสียงมี 7 และ 22 คน รวมแล้วเป็น 147 คน และ 143 คน ตามลำดับ ทำให้เห็นไปได้ว่าลักษณะการลงคะแนนเสียง มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนในทิศทางเดียวกันเกือบ 3 ใน 4 ของวุฒิสภา สอดคล้องกับการกล่าวหาถึงที่มาของสมาชิกวุฒิสภาว่ามีการจัดตั้งแทรกแซงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยขบวนการของพรรคการเมืองที่กำลังถูกตรวจสอบโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
2.ผู้สมัครทั้ง 2 ท่านผ่านกระบวนการสรรหาด้วยมติที่เป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการสรรหาที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน มีกรรมการที่ประกอบด้วยประธานสภาผู้แทน ผู้นำฝ่ายค้านในสภา ประธานศาลปกครองสูงสุด และตัวแทนองค์กรอิสระต่าง ๆ ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 8 : 0 ชี้ชัดให้เห็นถึงความเหมาะสมของผู้ผ่านการสรรหา แต่ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมสมาชิกวุฒิสภากลุ่มใหญ่นี้ไม่โหวตผ่าน จนเป็นที่น่าสงสัยว่าทำตามใบสั่งทางการเมืองหรือไม่
3.มีรายงานจากแหล่งข่าวในวุฒิสภาเปิดเผยเบื้องหลังของมติดังกล่าวว่า ในการพิจารณารายงานแบบลับ ที่มีผู้อภิปราย 22 คน ใช้เวลาคนละ 7 นาที ส่วนใหญ่ สมาชิกวุฒิสภาในที่ประชุมจะอภิปรายไปในทางชื่นชม
จากข้อสังเกตข้างต้น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เห็นว่า บทบาทหน้าที่ของวุฒิสภาต้องทำงานด้วยความเป็นอิสระ อีกทั้งเมื่อมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลการบริหารราชการแผ่นดินแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่วุฒิสภาเองจะต้องดำรงความเป็นอิสระและทำงานด้วยความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้กระบวนการในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เป็นบทบาทหน้าที่ที่มีความสำคัญยิ่ง
ครป.จึงขอเรียกร้องให้วุฒิสภาชี้แจงเหตุผลการออกแบบกระบวนการคัดเลือกที่ปิดลับ ไม่โปร่งใสของผู้ที่ผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ อีกทั้งขอให้เปิดเผยผลของกระบวนการคัดเลือกทุกขั้นตอนต่อสังคม
นอกจากนี้ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เห็นว่าคุณวุฒิของผู้ผ่านการคัดเลือกนั้นเหมาะสมเป็นที่ประจักษ์ของสังคม สมาชิกวุฒิสภาต้องชี้แจงเหตุผลอย่างชัดเจนที่โหวตไม่เห็นชอบต่อประชาชน และใคร่ขอประณามกระบวนการแทรกแซงการทำงานของวุฒิสภาจากฝ่ายการเมือง ด้วยเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ และเป็นพฤติกรรมที่ละเมิดเจตนารมณ์ของหลักรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรง
19 มีนาคม 2568
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)