‘ครม.’ อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฯ หลักเกณฑ์คำนวณมูลค่า ‘ทรัพย์สิน’ ที่ต้องเสียจากการ ‘รับมรดก’ ให้คำนวณ ‘มูลค่าหุ้น’ ที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกเท่ากับ ‘มูลค่าทางบัญชี’
.................................
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ.2559 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สำหรับร่างกฎกระทรวงฯดังดล่าว มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก ในส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) โดยให้คำนวณมูลค่าหุ้นที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกเท่ากับมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิในหุ้นนั้น
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ดังนี้ 1.ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีภาระการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีลดลง โดยไม่มีภาระเกินสมควร 2.การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและสามารถปฏิบัติตามได้ง่าย
3.เจ้าพนักงานประเมินสามารถตรวจสอบการคำนวณภาษีได้อย่างรวดเร็วขึ้นและอยู่-ยในกำหนดเวลา อันทำให้ผู้ที่เสียภาษีทราบอย่างรวดเร็วขึ้นด้วยว่าคำนวณภาษีถูกต้องหรือไม่ และ 4.ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีความสมัครใจในการเสียภาษีเพิ่มขึ้น
“การแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกและลดความซับซ้อนให้แก่ผู้ได้รับมรดกที่มีหน้าที่เสียภาษี การรับมรดกและเจ้าพนักงานประเมินในการคำนวณและตรวจสอบการคำนวณมูลค่าหุ้น รวมทั้งจะเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักภาษีอากรที่ดี” น.ส.ศศิกานต์ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ.2559 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ไม่ให้จดทะเบียนใน ต.ล.ท. ในส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ดังนี้
1.กรณีหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งไม่ไปถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น
2.กรณีหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งไปถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ให้ถือมูลค่าหุ้น ดังนี้
2.1 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นนั้น ไม่ได้จดทะเบียนใน ต.ล.ท. ให้ถือเอามูลค่าที่สูงกว่าระหว่างมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือมูลค่าทางบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น มาใช้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์มรดก
2.2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นจดทะเบียนใน ต.ล.ท. หรือตลาดหลักทรัพย์ของต่างประเทศ ให้ถือเอาราคาหรือมูลค่าที่สูงกว่าระหว่างราคาหรือมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นของหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือราคาหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก มาใช้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์มรดก
2.3 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ตามข้อ 2.1 หรือข้อ 2.2 เกินกว่า 1 แห่ง ให้นับรวมราคาหรือมูลค่าหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นตาม 2.1 หรือ 2.2 เทียบกับมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และให้ถือเอาราคาหรือมูลค่าที่สูงกว่ามาใช้ในการคำนวณมูลค่าของทรัพย์มรดก