ACT ออกแถลงการณ์ยินดีรัฐสภา-ป.ป.ช.ผลักดันกฎหมายป้องกันฟ้องปิดปาก ชี้เป็นกลไกสำคัญป้องกันประชาชน-จนท.รัฐเปิดโปงทุจริต แนะรัฐบาลศึกษา-เสนออีก 3 กฎหมายป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค-กฎหมายป้องกันบุกรุกป่า-กฎหมายแก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ชี้เป็นเรื่องคาบเกี่ยวประเด็นเสรีภาพสื่อมวลชนนำเสนอข่าว แต่กลับถูกคู่กรณีฟ้องปิดปาก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 7 มี.ค. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือว่า ACT ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่านายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ต้องแสดงความชื่นชมและขอบคุณรัฐสภา รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้ร่วมผลักดันพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ให้มี “มาตรการป้องกันการฟ้องปิดปาก” (Anti – SLAPP Law) ซึ่งข้อเรียกร้องนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ นับเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะมาตรการนี้จะเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจให้คนไทยทุกภาคส่วนพร้อมจะมีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้น ด้วยกฎหมายนี้มีเป้าหมายปกป้องคุ้มครองประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เปิดโปง ชี้เบาะแส หรือเป็นพยานในคดีคอร์รัปชันมิให้ถูกกลั่นแกล้ง ฟ้องร้อง ข่มขู่โดยง่าย อีกทั้งยังเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ และอนุสัญญา UNCAC 2003 โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีมาตรการนี้
“มาตรการนี้จะเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพการแสดงออกซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่จะส่งเสียงและร่วมตรวจสอบการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้กระบวนการยุติธรรมถูกนำมาใช้ข่มขู่ คุกคาม หรือขัดขวางการตรวจสอบของประชาชนและสื่อมวลชนที่กล้าพูดความจริงเพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติ” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว
นายมานะกล่าวต่อไปว่านอกจากการมีมาตรการป้องกันการฟ้องปิดปากในคดีทุจริตคอร์รัปชันแล้ว ขอเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งศึกษาและเสนอกฎหมายเพิ่มเติมอย่างน้อยในอีก 3 ประเด็นปัญหาที่มีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมและบุกรุกป่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยจุดร่วมของทั้งสามปัญหายังคาบเกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนผู้นำเสนอข่าว เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะแต่กลับถูกคู่กรณีฟ้องปิดปาก หลายกรณีเป็นคดีความที่สังคมร่วมกันจับตาและตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งอาจขยายผลกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนานาชาติ