คณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจง นำเอกสาร-โพยเข้าไปยังสถานที่เลือก สว.ได้หรือไม่ ยกคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยืนยัน ไม่ได้ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ แม้ศาลปกครองกลาง เพิกถอน ระเบียบกกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวฯ พ.ศ. 2567 ข้อ 7 วรรคสอง ห้ามนำเอกสารแนะนำตัวแจกจ่าย-นำเข้าสถานที่เลือก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 มีนาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ เลขที่ข่าว 80/2568 ชี้แจง 3 ประเด็น เกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปี 2567 ประเด็นแรก การนำเอกสารหรือโพยเข้าไปยังสถานที่เลือกสมาชิกวุฒิสภา ได้หรือไม่ ประเด็นที่ 2 และประเด็นที่ 3 โพยผิดกฎหมายหรือไม่ และ กกต. ระงับยับยั้งการเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม หรือไม่ ดังนี้
คำพิพากษา กรณี การนำเอกสารหรือโพยเข้าไปในสถานที่เลือกสมาชิกวุฒิสภา
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอเรียนว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท 125/2567 คดีหมายเลขแดงที่ อท 13/2568 ลงวันที่ 28 มกราคม 2568 กรณีการนำเอกสารหรือโพยเข้าไปในสถานที่เลือกสมาชิกวุฒิสภา มีรายละเอียด ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การนำเอกสารหรือโพยเข้าไปยังสถานที่เลือกสมาชิกวุฒิสภา ได้หรือไม่
ศาลมีคำพิพากษาว่า ในเรื่องการนำโพย หรือเอกสารที่มีการจดหมายเลขของผู้สมัครอื่นเข้าไปในเขตเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มิได้มีข้อห้ามไว้โดยตรง
จึงเห็นได้ว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการนำเอกสาร รวมทั้งเอกสารที่จดหมายเลขผู้สมัครอื่นเข้าไปในเขตเลือกตั้งเป็นความผิดในตัวเอง ดังนั้น เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดห้าม หรือกำหนดเป็นความผิดไว้ผู้สมัครย่อมมีสิทธินำเอกสารใดเข้าไปใบในเขตเลือกตั้งได้ ในทางกลับกัน การห้ามมิให้ผู้สมัครนำเอกสารใดเข้าไปในสถานที่เลือกคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงจะกระทำมิได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการเลือกตั้ง ได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ข้อ 7 วรรคสอง กำหนดว่า “เอกสารแนะนำตัวตามวรรคหนึ่ง จะแจกจ่ายหรือนำเข้าไปในสถานที่เลือกไม่ได้” อันหมายถึงว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจออกระเบียบห้ามมิให้ผู้สมัครนำเอกสารแนะนำตัวเข้าไปในสถานที่เลือกสมาชิกวุฒิสภา แต่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนข้อ 7 วรรคสอง ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งตั้งกล่าว จึงไม่มีผลบังคับผู้สมัครมีสิทธินำเอกสารแนะนำตัวเข้าไปในสถานที่เลือก และเหตุในเบื้องต้นทำให้เห็นว่า เอกสารอื่นที่ไม่มีกฎหมายห้ามหรือกำหนดเป็นความผิดไว้ ผู้สมัครก็ย่อมนำเข้าไปในสถานที่เลือกได้’
ดังนั้น เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดห้าม หรือกำหนดเป็นความผิดไว้ ผู้สมัครย่อมมีสิทธินำเอกสารใดเข้าในสถานที่เลือกได้ การห้ามมิให้ผู้สมัครนำเอกสารใดเข้าไปในสถานที่เลือก กกต. กระทำมิได้
ประเด็นที่ 2 และประเด็นที่ 3 โพยผิดกฎหมายหรือไม่ และ กกต. ระงับยับยั้งการเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม หรือไม่
ศาลมีคำพิพากษาว่า การนำโพยหรือเอกสารที่จดหมายเลขผู้สมัครเข้ามาในสถานที่เลือก สว.ที่ศูนย์การค้า อิมแพค เมืองทองธานี กฎหมายมิได้กำหนดว่าการนำเอกสาร รวมทั้งเอกสารที่จดหมายเลขผู้สมัครอื่นเข้าไปในเขตเลือกตั้งเป็นความผิดในตัวเอง
อย่างไรก็ตาม กกต. ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมเลือก สว. ให้เป็นโปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยศาลเห็นว่า ก่อนที่ กกต. จะมีคำสั่งใด ๆ อันจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้สมัครเพื่อให้คงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งนั้น กกต. ต้องตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของเงื่อนไขว่า “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” หรือ “มีเหตุอันควรสงสัยว่า” มิใช่ กกต. จะสามารถใช้อำนาจได้โดยไม่มีมูลฐานแห่งเหตุอันควร เพราะการใช้อำนาจต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เท่านั้น
ก่อนการเลือกรอบที่ 2 ในระดับประเทศ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง ต่อมา คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติเพื่อควบคุมมิให้การเลือกมิเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นการป้องปรามเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสถานที่เลือก นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศไปดำเนินการให้เป็นไปตามที่ได้มีคำสั่งด้วยแล้ว
กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่อย่างใด การมีมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งและการดำเนินการตามมติของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ) ที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวก็สัมฤทธิ์ผล
ดังปรากฏตามคำฟ้องว่า เมื่อมีผู้ซุกซ่อนนำโพยเข้าไป ก็ได้มีการยึดและไม่ได้ยินยอมให้มีการนำเข้าไปซึ่งเอกสารใด ๆ เข้ามาในเขตเลือกตั้งในรอบที่ 2 ในการเลือกระดับประเทศ จึงเป็นการกระทำตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 มี.ค.68 กกต.ได้เผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงในกรณีกกต.อนุญาตให้ผู้สมัครสว.นำโพยเข้าไปในสถานที่เลือกสว.ไม่เป็นความจริง
“สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีหนังสือแจ้งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เรื่อง ซักซ้อมแนวทางเกี่ยวกับการอบรมและข้อเน้นย้ำการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำสถานที่เลือก ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ระบุว่า ในวันเลือกสมาชิกวุฒิสภา ให้กรรมการประจำสถานที่เลือกแนะนำผู้มีสิทธิเลือกว่า “สามารถนำเอกสารหรือข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว. 3 ที่ออกจากระบบบริหารจัดการการเลือกเท่านั้น)” ที่ทางผู้อำนวยการการเลือก ฯ มอบ ให้เข้าไปในคูหาลงคะแนนได้”เอกสารข่าว เลขที่ 73/2568 เผยแพร่วันที่ 3 มี.ค.2568 ระบุ
อ่านข่าวประกอบ : กกต.แจง อนุญาตนำโพยเข้าสถานที่เลือก สว.ได้ ไม่เป็นความจริง