บชก.ทลายแก๊งฟอกเงิน รวบ 10 ผู้ต้องหา ทั้งไทย-จีน รับงานแปลงทรัพย์ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ สารภาพ 1 ปี พบหลักฐานทรัพย์สิน-เงินสด มากกว่า 2,900 ล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2568 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท.พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รอง ผบก.ปอท. พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.2 บก.ปอท.พ.ต.ต.ศุภเดช ธนชัยศิริ สว.กก.2 บก.ปอท.ร่วมกันแถลงจับกุม น.ส.อัจฉราฯ อายุ 27 ปี นายเก๊า อายุ 35 ปี นายซง อายุ 30 ปี นายเหมา อายุ 46 ปี นางโจ อายุ 44 ปี ทั้งหมดสัญชาติจีน น.ส.พรทิพย์ อายุ 44 ปี นายนพวิทย์ อายุ 31 ปี นายชลธีอายุ 21 ปี น.ส.ปัณฑารีย์ อายุ 26 ปี และน.ส.สุภาวดี อายุ 39 ปี
ทั้งหมดถูกจับกุมตามหมายศาลอาญา ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ, ร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันเป็นอั้งยี่”ได้ในพื้นที่ กทม.,เชียงใหม่ , สมุทรปราการ,สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม,ปราจีนบุรี,สระแก้ว และนครศรีธรรมราช
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีหลอกลวงเหยื่อมา โดยใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เช่น ซื้อขายของออนไลน์ การเช่าที่พัก รวมถึงการหางาน หรือรายได้พิเศษ อาศัยการทำงานที่ง่ายและได้เงินได้ทันที จนมีเหยื่อหลงเชื่อ ก่อนหลอกให้โอนเงินมาให้กับกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งคดีนี้เริ่มจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีผู้เสียหายที่ต้องการหารายได้พิเศษ จนไปพบประกาศหางานในสื่อโซเชียล ผู้อยากหารายได้พิเศษ โดยรับสินค้าไปแพ็กที่บ้าน ช่วงแรกคนร้ายก็ชักชวนให้ทำงานรูปแบบออนไลน์ เป็นงานกดไลค์-กดเพิ่มยอดติดตามต่างๆ ผู้เสียหายทดลองทำปรากฎว่าได้รับเงินจริงจำนวนหลายครั้ง
ต่อจากนั้น คนร้ายจึงเริ่มชักชวนให้ผู้เสียหายทำกิจกรรมพิเศษต่างๆ โดยจะต้องนำเงินมาลงทุนก่อนได้รับผลตอบแทนประมาณ 30%-50% ช่วงแรก ๆ มีการให้ผลตอบแทนจริง จากนั้นคนร้ายก็หลอกให้นำเงินมาลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ไม่สามารถถอนเงินออกมาจากระบบได้ คนร้ายอ้างว่าเป็นความผิดของผู้เสียหายที่ไม่ยอมทำตามขั้นตอน ภายหลังผู้เสียหายรู้ว่าถูกหลอกลวง จึงเข้าแจ้งความบก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวอีกว่า ต่อมาตำรวจ บก.ปอท. ทำการสืบสวนจนพบว่าคนร้ายทำกันขบวนการ มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยรับโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารต่างๆ ก่อนแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดถอนออกจากบัญชี โดยพบเหยื่อที่ถูกหลอกลักษณะเดียวกันประมาณ 60 ราย ความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท ก่อนจะออกหมายจับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 32 ราย แบ่งเป็นกลุ่มบัญชีม้าคนไทย 10 ราย, แก๊งคอลฯ ชาวจีน 2 ราย, กลุ่มฟอกเงิน จำนวน 20 ราย (ชาวไทย 1 ราย, ชาวจีน 14 ราย, เกาหลี 5 ราย)
ด้าน พล.ต.ต. อธิป กล่าวอีกว่า ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. ,บก.ปคบ., บก.ปคม. และ บก.ทล. เปิดปฏิบัติการ “ทลายแก๊งฟอกเงินมังกรเทา” นำกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 20 จุดใน 8 จังหวัดทั่วประเทศสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 10 ราย ทั้งหมดเป็นสมาชิกแก๊งฟอกเงินให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 5 ราย เจ้าของบัญชีม้า 5 ราย พร้อมตรวจยึดของกลางและทรัพย์สินต่างๆ รวม 210 รายการ เช่น คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ, สมุดบัญชี, รถยนต์ , เงินสด, โฉนดที่ดินบ้าน/คอนโด, นาฬิกาหรู, กระเป๋าแบรนด์เนมและทรัพย์สินมีค่าต่างๆ รวมมูลค่ากว่า 14 ล้านบาท
จากการสอบสวน น.ส.อัจฉรา ซึ่งเป็นตัวการฟอกเงินในประเทศ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ยอมรับในข้อเท็จจริงว่า เมื่อปี 62 เคยทำหน้าที่เป็นล่ามและไกด์พาเที่ยวให้กับชาวจีน จนมาเมื่อปี 66 ได้รู้จักกับแฟนหนุ่มชาวจีน และร่วมกันรับแลกเหรียญดิจิทัลจากลูกค้ากลุ่มจีนเทาต่างๆ ที่ต้องการใช้เงินในประเทศไทย ก่อนนำเหรียญดิจิทัลมาขาย และนำมาแลกเปลี่ยน นำส่งให้กลุ่มจีนเทาตามคำสั่ง โดยจะได้ค่าบริการ 0.03 % ถึง 0.05% ของยอดเงิน
น.ส.อัจฉรา ให้การอีกว่า ส่วนขั้นตอนการทำงาน แฟนหนุ่มชาวจีน จะคอยติดต่อกับกลุ่มจีนเทาต่างๆ จากนั้นตนและสมาชิกในแก๊ง ที่ได้รับเงินดิจิทัล โดยนำเหรียญดิจิทัลมาขายในรูปแบบ p2p ผ่านแพลตฟอร์ม Exchange โดยจะส่งเงินตามคำสั่งของกลุ่มจีนเทา ซึ่งหักยอดเงินจำนวนไม่มาก ตนเองและแฟนหนุ่มจะใช้วิธีการโอนเงินผ่านบัญชีของตนไปให้ลูกค้า แต่หากเป็นเงินจำนวนมากก็จะเบิกเงินสดนำไปส่งมอบให้ลูกค้า หรือ นำเข้าบัญชีต่างๆ ตามคำสั่งของกลุ่มจีนเทาที่ต้องการใช้เงินในประเทศไทย
น.ส.อัจฉรา ให้การอีกด้วยว่าตนเองทำหน้าที่ฟอกเงินตั้งแต่ปี 66 จนถึงปัจจุบัน โดยมีการรับเป็นสกุลเงินดิจิทัลสกุล USDT จำนวน 187 ล้านเหรียญ USDT คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6,500 ล้านบาท และมีการถอนเงินสดเป็นเงินไทยไปแล้วประมาณ 2,900 ล้านบาท และยังนำเงินที่ได้จากการกระทำผิดไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ อีกด้วย
พล.ต.ต.อธิป กล่าวต่อว่า ส่วนผู้ต้องหาที่เป็นชาวจีนทั้ง 4 รายนั้นให้การปฏิเสธ แต่ยอมรับในข้อเท็จจริงว่า มีส่วนร่วมกับผู้ต้องหาที่ 1 มีหน้าที่รับเหรียญดิจิทัลมาจากกลุ่มจีนเทามาเทขาย ก่อนนำเงินสดส่งมอบให้ลูกค้า ซึ่งนอกจากพบความเกี่ยวข้องของเส้นทางการเงินที่มีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆแล้วยังพบว่าขบวนการนี้มีพฤติการณ์ตั้งบริษัทให้คนไทยเป็นนอมินีคอยรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านหรือที่ดิน ซึ่งบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจจริง โดยพบมียอดเงินไหลเข้าไปยังบริษัทอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 10 แห่ง ย่านบางนา เอกมัย และฝั่งธน ซึ่งใช้นอมินีสัญชาติไทย แต่กรรมการเป็นคนจีน ซึ่งตรงนี้ก็จะมีการตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม ส่วนตัวผู้ต้องหาทั้งหมดก็จะส่งตัวให้พนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท.ดำเนินคด่ต่อไป