กรมราชทัณฑ์ ออกหนังสือชี้แจง กรณี เว็บไซต์ไทยโพสต์ เผยแพร่ข่าว พาดหัว ‘ป่วยทิพย์ชั้น14’ 10 กรณีคอร์รัปชัน แห่งปี 2567 – ‘โกงซ้อนโกง’ จัดทำโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุ การพักโทษ-ระบบบริหารโทษ ใช้กันทั่วโลก ปฎิเสธ ‘จำคุกน้อยปล่อยตัวไว’ ย้ำ เป็นไปตามกฎหมาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 กรมราชทัณฑ์ เผยแพร่เอกสารชี้แจงกรณีที่เว็ปไซต์ไทยโพสต์ ได้มีการเผยแพร่ข่าว พาดหัว 10 กรณีคอร์รัปชันแห่งปี 2567 ป่วยทิพย์ชั้น 14 โกงซ้อนโกง โดยมี ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความ พาดพิงกรณีลดโทษ พักโทษ มอบอภิสิทธิ์ให้นักโทษคดีโกงชาติ นั้น
อ่านประกอบ : ACT' ฟ้อง 'ประชาชน' 10 กรณี 'คอร์รัปชัน' แห่งปี 2567 : เจ็บแต่ไม่จบ 'รัฐ' สมคบ 'เอกชน'
กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า การพักการลงโทษเป็นระบบการบริหารโทษประการหนึ่งที่ใช้กันทั่วโลก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ต้องขังที่ถูกจำคุกมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง และผ่านกระบวนการในการพัฒนาพฤตินิสัย มีความประพฤติดี มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ไม่มีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดซ้ำ ได้มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตในสังคม อันเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งด้านอาชีพ ครอบครัว การปรับตัว ตลอดจนการวางแผนอนาคตก่อนที่จะครบระยะเวลาต้องโทษ และกลับคืนสู่สังคม
ทั้งนี้ ในระหว่างพักการลงโทษนั้น ผู้ต้องขังจะต้องปฏิบัติตัวตามเงื่อนไขในความควบคุมดูแลของกรมคุมประพฤติจนกว่าจะพ้นโทษตามหมายจำคุกของศาล แต่หากผิดเงื่อนไขก็จะถูกนำตัวกลับไปคุมขังยังเรือนจำต่อไป ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการบริหารโทษตามแนวทางดังกล่าวมาตั้งแต่พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 จนมาสู่พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน
สำหรับข้อกล่าวอ้างที่ว่า จำคุกน้อยปล่อยตัวไวนั้น ขอเรียนว่าผู้ต้องขังทุกรายได้รับการพิจารณาจากคณะทำงานในชั้นเรือนจำ และเสนอต่อคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ที่ประกอบด้วยหน่วยงานภายนอกหลายหน่วยงาน โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดภายใต้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดและเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก หรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 และฉบับที่ (2) พ.ศ. 2564 อย่างเสมอและเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการลงโทษจำคุกตามหมายจำคุกล่าสุด กล่าวคือ ผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาการพักการลงโทษ กรณีปกติ จะต้องจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 และเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 2-5 ปี ส่วนผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษกรณีพิเศษ เช่น เจ็บป่วย หรือ สูงอายุ 70 ปี ต้องจำคุก มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
ดังนั้น การพิจารณาการพักการลงโทษ จึงได้ดำเนินการตามกฎ กติกา ที่ไม่สามารถเลือกปฏิบัติ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้หนึ่งผู้ใดได้
กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่าการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ และชอบด้วยกฎหมายมิได้เอื้อสิทธิประโยชน์ หรือเลือกปฏิบัติต่อบุคคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด