‘กรมส่งเสริมสหกรณ์’ แจงกฎกระทรวงฯ ‘ฉบับใหม่’ ให้เวลา ‘สหกรณ์’ ปรับลดสัดส่วน ‘เงินฝาก-เงินลงทุน’ เหลือแห่งละไม่เกิน 10% ภายใน 5-10 ปี
.......................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศกฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2567 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องการฝากเงินและการลงทุน สำหรับสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์มีสภาพคล่องทางการเงินสูงและมีการลงทุนตามมาตรา 62 โดยกำหนดให้สหกรณ์ฯ สามารถฝากหรือลงทุนนิติบุคคลต่อแห่งได้ไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นบวกทุนสำรองของสหกรณ์นั้นๆ นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. กรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) ได้เผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงข้อกังวลของสหกรณ์เกี่ยวกับประกาศกฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2567 โดยมีเนื้อหาว่า นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า แม้ว่ากฎกระทรวงฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้สหกรณ์ฯ ฝากหรือลงทุนในนิติบุคคลต่อแห่งได้ไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นบวกทุนสำรองของสหกรณ์นั้นๆ
แต่กฎกระทรวงฯได้กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 สหกรณ์ฯที่ฝากเงินหรือลงทุนในนิติบุคคลต่อแห่งเกิน 10 % สามารถจัดทำแผนเพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนได้ภายใน 5 ปี และในช่วงแรกของการปรับตัวอาจยังกำหนดแผนให้มีการซื้อเข้าขายออกได้ตามปกติ แต่ต้องไม่เกินยอดเดิมของนิติบุคคลนั้น
กรณีที่ 2 สหกรณ์ที่ลงทุนเกินกว่าทุนเรือนหุ้นบวกทุนสำรอง จะมีวิธีการให้เวลาในการปรับตัวในลักษณะเดียวกันกับกรณีที่ 1 ได้ภายใน 10 ปี และสหกรณ์สามารถเพิ่มทุนเรือนหุ้นได้ทุกเดือน
ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนดสหกรณ์ดำเนินการตามกฎกระทรวงนี้ไปแล้วภายในระยะเวลา 5 ปี กรมส่งเสริมสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำผลการดำเนินการ และผลกระทบมาพิจารณาว่าสมควรทบทวนหรือปรับปรุงหลักเกณฑ์อีกครั้งหรือไม่
“สหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่งซึ่งมีเงินเหลือ (Surplus) จากการทำธุรกิจกับสมาชิก ควรมีทางใช้ไปของเงินที่ก่อประโยชน์ตอบแทนที่สมเหตุสมผล วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์มิได้เป็นไปเพื่อแสวงหาผลกำไรมาแบ่งปัน การลงทุนของสหกรณ์ จึงเป็นเพียงการบริหารสภาพคล่องคงเหลือจากการดำเนินธุรกิจกับสมาชิกและเครือข่ายสหกรณ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์จากภาระต้นทุนทางการเงินของสหกรณ์เท่านั้น อีกทั้งการลงทุนในตลาดทุนมีความเสี่ยงและความผันผวนซึ่งอาจส่งผลกระทบกับเงินของสหกรณ์ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสมาชิกสหกรณ์ จึงจำเป็นต้องออกข้อกำหนดมากำกับดูแล” นายวิศิษฐ์ กล่าว
อ่านเพิ่มเติม : กฎกระทรวง การฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2567