ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าว ไม่รับคำร้องสำคัญ 3 คำร้อง กรณี ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม-อธิบดีกรมราชทัณฑ์-ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ’ เอื้อประโยชน์ให้กับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 – ไม่รับคำร้อง ‘แพทองธาร ชินวัตร-พรรคเพื่อไทย’ ทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตไม่เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ – ไม่รับคำร้อง ‘เลือกตั้ง สว.’ ละเมิดสิทธิ-เสรีภาพ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 18 ธันวาคม 2567 เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ 48/2567 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ อาทิ ไม่รับคำร้องกรณีร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 และไม่รับคำร้องกรณีนางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยพรรคเพื่อไทย ดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตไม่เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ รวมทั้งไม่รับคำร้องกรณีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
@ ไม่รับคำร้อง ‘รมว.ยุติธรรม-กรมราชทัณฑ์’ เอื้อ ‘ทักษิณ’
เรื่องพิจารณาที่ 39/2567 คำร้องขอให้ศาลรัฐธธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 นายคงเดชา ชัยรัตน์ (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ผู้ถูกร้องที่ 1) มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์และรับทราบการบังคับใช้กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ (ผู้ถูกร้องที่ 2) และผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (ผู้ถกร้องที่ 3) มีอำนาจให้ความเห็นชอบและอนุญาตบังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าว ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีอาการป่วยรุนแรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 วรรคหนึ่ง (2)
อีกทั้งไม่ได้ดูแลให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 กระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร ให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ทำให้บุคคลไม่เสมอกันในกฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธธรรมนูญ มาตรา 27 เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร เลิกการกระทำที่เป็นการครอบงำหรือจูงใจให้ผู้ถูกร้ถูกร้องทั้งสามใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องของขอ ผู้ร้องยืนคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสามเลิกการกระทำดังกล่าว
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นเพียงการกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องทั้งสามปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริง หรือพยานหลักฐานอื่นที่ชัดเจนเพียงพอ และยังห่างไกลเกินกว่าเหตุ ที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสามกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตามรัฐธธรรมนูญ มาตรา 49
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
@ ดิจิทัลวอลเล็ตเดินหน้าต่อ
เรื่องพิจารณาที่ ต.74/2567 นายสนธิญา สวัสดี (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธธรรมนูญ มาตรา 213 นายสนธิญา สวัสดี (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้อง) ใช้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ซึ่งต่อมาเมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และกลุ่มเป้าหมายของนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเดิม เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 257 (1) และมาตรา 258 ก. ด้านการเมือง (2) และ (3) และไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (1) และ (5)
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบคำร้อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องโต้แย้งนโยบายพรรคของผู้ถูกร้องและไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพและได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง กรณีไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
@ ตีตกคำร้อง ‘เลือก สว.’ ละเมิดสิทธิฯ-เลือกปฏิบัติ
เรื่องพิจารณาที่ ต. 72/2567) นายสิริไพศาล แสงประจักษ์ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
มาตรา 213 นายสิริไพศาล แสงประจักษ์ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 1) เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 2) ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ (ผู้ถูกร้องที่ 3) คณะกรรมการระดับจังหวัด (ผู้ถูกร้องที่ 4) และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (ผู้ถูกร้องที่ 5) ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอที่ได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2567 ข้อ 3 ที่แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 โดยเพิ่มความเป็นข้อ 75/1 เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพและเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นกรณีตามพระระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (2) ที่บัญญัติว่า “การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 46 ..... ต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ... (2) รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีมีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว” ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย