ครม.อนุมัติ 2 พ.ร.บ.สำหรับเวนคืนรถไฟฟ้าสายสีชมพู เก็บตกกรรมสิทธิ์ในที่ดินบางแปลง -การใช้ประโยชน์จากภาระด้านอสังหาฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 17 ธ.ค. 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รวม 2 ฉบับ (1) ร่าง พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... และ (2) ร่างพ.ร.บ.กำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกิจการขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้า สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ร่างพ.ร.บ.รวม 2 ฉบับ ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าหน้าที่ในเวนคืนตามพระราชบัญญัตินี้ และให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนภายในระยะเวลา 4 ปี
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกิจการขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกิจการขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ภาระในอสังหาริมทรัพย์มีการแสดงสิทธิในที่ดินให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายต้องยอมรับภาระว่าไม่สามารถใช้สอยอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ตามปกติแต่ไม่ได้สร้างภาระจนถึงขนาด ที่ รฟม. จะต้องดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
@เจ้าของที่ 28 แปลง ยังไม่ยอมซื้อขาย
1) กรณีเวนคืนเป็นการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยให้ รฟม เป็นเจ้าหน้าที่ในเวนคืนตามพระราชบัญญัตินี้ และให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนภายในระยะเวลา 4 ปี ทั้งนี้ แม้ รฟม.ได้ส่งมอบที่ดินที่ถูกเขตทางทั้งหมดในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี เพื่อใช้ในการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว แต่มีเจ้าของที่ดินในท้องที่ดังกล่าว จำนวน 28 แปลง (จากเดิม 592 แปลง) ไม่ตกลงซื้อขาย ดังนั้น รฟม.จึงได้วางเงินทดแทนให้กับเจ้าของที่ดินดังกล่าว แต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของเจ้าของที่ดิน โดยจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม.ก็ต่อเมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ รฟม.จึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เพื่อให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยโดยเร็วต่อไป
@จดทะเบียนภาระอสังหาฯ
2) กรณีกำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ภาระในอสังหาริมทรัพย์มีการแสดงสิทธิในที่ดินให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องยอมรับภาระว่าไม่สามารถใช้สอยอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ตามปกติ แต่ไม่ได้สร้างภาระจนถึงขนาดที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจะต้องดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น เช่น ทางวิ่งของรถไฟฟ้าพาดผ่านบริเวณเหนือที่ดิน สถานีหรือทางขึ้น - ลง ของสถานีรถไฟฟ้าล้ำเข้าไปบริเวณเหนือที่ดิน เป็นต้น ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยยังไม่ได้จดทะเบียนกำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร เพื่อให้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกำหนดลักษณะภาระนั้น จะตกอยู่ภายใต้ภาระอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ แม้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้วางเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินในท้องที่ดังกล่าวแล้ว แต่เจ้าของที่ดินไม่มาตกลงทำสัญญากำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 2 แปลง ดังนั้น เพื่อให้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกำหนดลักษณะภาระนั้นจะตกอยู่ภายใต้ภาระอสังหาริมทรัพย์ก็ต่อเมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์และพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชนตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 เพื่อกำหนดภาระอสังหาริมทรัพย์ให้อยู่ภายใต้ภาระอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชนในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี
2. กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญไทยและมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว และกรมการปกครองได้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของท้องที่การปกครองและแนวเขตการปกครองของแผนที่ท้ายร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวม 2 ฉบับแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี (22 มีนาคม 2565) เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีตรา ร่างกฎหมายหรืออนุบัญญัติที่ต้องจัดทำให้มีแผนที่ท้ายแล้ว