‘แสวง บุญมี’ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตอบคำถาม ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ หัวหน้าพรรคประชาชน รับบริจาคสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้วถูกรางวัลได้ ถือเป็นรายได้ของพรรคการเมือง - ขึ้นเงินในนามพรรคได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ทำหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ลต 0020/18284 ตอบข้อสอบถาม นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ภายหลังทำหนังสือขอหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติของพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับการรเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของ กกต.กรณีพรรคการเมืองรับบริจาคสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 5 ประเด็น ดังนี้
ข้อสอบถามที่ 1 เห็นว่า พรรคการเมืองสามารถรับสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ยังไม่ถึงกำหนดวันออกผลรางวัลได้
ข้อสอบถามที่ 2 เห็นว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลที่ได้รับบริจาค ถือเป็นรายได้หนึ่งของพรรคการเมือง ตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 โดยต้องออกหลักฐานของแหล่งรายได้และระบุมูลค่าตามที่ปรากฏไว้ในสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น ตามข้อ 44 และข้อ 45 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2563 ตามแบบ พ.ก. 11 และแบบ พ.ก. 13
ข้อสอบถามที่ 3 เห็นว่า เมื่อพรรคการเมือง ได้รับบริจาคทรัพย์สินเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยสุจริตและหากสลากกินแบ่งรัฐบาลถูกรางวัล พรรคการเมืองย่อมมีสิทธิได้รับรางวัลดังกล่าว และสามารถนำสลากกินแบ่งรัฐบาลไปขึ้นรางวัลในนามของพรรคการเมืองได้
ข้อสอบถามที่ 4 เห็นว่า เงินรางวัลจากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล ถือเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองของพรรคการเมือง จึงต้องลงบันทึกเป็นรายได้ของพรรคการเมือง ตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง (7) แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566
ข้อสอบถามที่ 5 เห็นว่า เงินที่ได้รับจากการขึ้นรางวัลนั้น ถือเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสลากกินแบ่งรัฐบาลที่พรรคการเมืองได้รับบริจาคและได้ออกหลักฐานของแหล่งรายได้ตามแบบ พ.ก. 11 และ แบบ พ.ก. 13 ไว้ก่อนหน้านี้และถือเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว มิใช่เป็นกรณีที่มีการให้เงินหรือทรัพย์สินรายการใหม่ให้แก่พรรคการเมืองแต่อย่างใด จึงไม่มีกรณีที่ต้องระบุชื่อบุคคลหรือนิติบุคคคลใดเป็นผู้บริจาคอีก โดยเงินที่ได้รับจากการขึ้นรางวัลนั้น พรรคการเมืองจะต้องบันทึกเป็นรายได้ของพรรคการเมืองตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นข้อสอบถามของพรรคประชาชน กรณีพรรคการเมืองรับบริจาคสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีหนังสือถึง กกต. เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2567 มีประเด็นคำถาม ดังนี้
1.ในกรณีที่มีบุคคลนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ยังไม่ถึงกำหนดวันออกผลรางวัล มาบริจาคให้พรรคการเมือง พรรคการเมืองสามารถรับสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวไว้ได้หรือไม่
2.ในกรณีที่พรรคการเมืองสามารถรับมอบสลากกินแบ่งรัฐบาลไว้เป็นทรัพย์สินที่พรรคการเมืองได้จากการรับบริจาคตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และพรรคการเมืองต้องออกหลักฐานการบันทึกการรับบริจาค ตามแบบ พ.ก. 11 และออกใบเสร็จรับบริจาคทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใด ตามแบบ พ.ก. 13 ให้แก่ผู้บริจาคตามข้อ 45 แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2563 พรรคการเมืองจะต้องระบุการคำนวณมูลค่าเท่าใด (กรณีที่สลากกินแบ่งรัฐบาล มีราคาขายตามกฎหมาย คือ 80 บาท)
3.ในกรณีที่ต่อมา หากสลากกินแบ่งรัฐบาลที่พรรคการเมืองได้รับบริจาคดังกล่าวถูกรางวัล พรรคการเมืองสามารถนำสลากกินแบ่งรัฐบาลไปขึ้นรางวัลในนามพรรคการเมืองได้หรือไม่
4.ในกรณีที่พรรคการเมืองนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลไปขึ้นรางวัลได้พรรคการเมืองจะต้องลงบันทึกเป็นรายได้ของพรรคการเมืองตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ประเภทใด
5.ในกรณีที่พรรคการเมืองนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลไปขึ้นรางวัลได้ โดยเงินที่ได้รับจากการขึ้นรางวัลถือเป็นรายได้จากการบริจาค พรรคการเมืองจะต้องลงบันทึกว่าบุคคลใดเป็นผู้บริจาค
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยโพสต์ลง pita.ig ว่า ขอบคุณคุณป้าที่ลำพูนครับ :) เนื่องจากนายพิธาถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 16 มิ.ย.2567 รางวัลเลขท้าย 2 ตัว