ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ภาคีเครือข่าย จัดงาน 'สู้ให้สุด หยุดการโกง' ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ด้าน 'ชูศักดิ์ ศิรินิล' ย้ำรัฐบาลยึดหลักนิติธรรม-สร้างความโปร่งใสในการทำงาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดงานเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด FIGHT AGAINST CORRUPTION “สู้ให้สุด หยุดการโกง” รวมพลังคนไทยกว่า 3,000 คน ณ ฮอลล์ 7 อาคารศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี และผู้เข้าร่วมรับชมจากทั่วประเทศและทั่วโลก ที่ชมงานผ่าน Facebook สำนักงาน ป.ป.ช. ได้แสดงออกถึงเจตจำนงในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ
นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า รัฐบาล ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ขึ้น ในวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2567 ภายใต้แนวคิดหลัก FIGHT AGAINST CORRUPTION “สู้ให้สุด หยุดการโกง” และขณะเดียวกันในส่วนภูมิภาค มีการจัดประชุมร่วมกับกรมการจังหวัด และกลุ่มองค์กรภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อตีแผ่ปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในสังคม การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต และเพื่อร่วมกันแสดงพลังความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนความซื่อสัตย์สุจริตให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรีให้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันสำคัญ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาคมโลก ถึงภัยร้ายแรงของการทุจริต และเพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาการคอร์รัปชันของประเทศไทยเป็นปัญหาเรื้อรังที่สั่งสมมานาน ส่งผลเสียหายต่อประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง นำไปสู่ปัญหาการขาดความเชื่อมั่นในมุมมองของนานาชาติ จากการศึกษาขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ในปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าปัญหาการทุจริตที่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของประเทศไทย คือ เรื่องการซื้อขายตำแหน่ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับสินบน การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกัน การบังคับใช้กฎหมาย การแยกแยะผลประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ส่วนตน และความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณ ส่งผลต่อคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้การยอมรับ เพื่อวัดสถานการณ์การทุจริตในแต่ละประเทศ ที่นักลงทุนหรือนักธุรกิจหลายประเทศใช้ประเมินความน่าสนใจลงทุนของแต่ละประเทศ โดยมองว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นต้นทุนหรือความเสี่ยงในการเข้ามาประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ตามผลการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย ในระยะที่ผ่านมายังอยู่ในระดับคงที่ มีคะแนน 35 - 36 คะแนนจาก 100 คะแนน แสดงให้เห็นถึงปัญหาการทุจริตในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่ผ่านมาโดยรัฐบาลจะยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และสร้างความโปร่งใส (Transparency) การสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการสร้างรายได้ และสร้างโอกาสแก่ประเทศและประชาชน โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งรัฐบาล มีความมุ่งมั่นตั้งใจดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ยึดประโยชน์ของประชาชนทุกภาคส่วนเป็นที่ตั้ง และผลักดันการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบที่สำคัญ ผ่านการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ได้แก่
- การให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตโดยการผลักดันให้แนวทางการแก้ไขบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 - 2580) โดยเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และการผลักดันให้มีการจัดทำแผนระดับรองเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง เนื่องจากการทุจริตส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการภาครัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการพัฒนาประเทศ รวมถึงภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ทั้งในแง่การรับรู้ของภาคประชาชน และภาคธุรกิจ
- การขับเคลื่อนพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน เพื่อสร้างความโปร่งใสในการอนุมัติ อนุญาต เพื่อลดปัญหาการทุจริตจากการเรียกรับสินบน และการพัฒนาและส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดระยะเวลาในการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการอนุมัติ/อนุญาตต่าง ๆ สร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนสามารถตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลสู่ระบบดิจิทัล
- การเสริมสร้างให้กระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง สร้างความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใสในระบบศาลยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการนิติบัญญัติ และระบบการบริหารจัดการ รวมทั้งการส่งเสริมระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม
- การสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินคดีทุจริตคอร์รัปชันที่สร้างความเสียหายหรือมีผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงการรับมือกับปัญหาการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐและปัญหาการทุจริตข้ามชาติ ทั้งในเรื่องช่องว่างของกฎหมาย เพื่อสามารถนำตัวผู้กระทำผิด มาลงโทษ
- การสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอิสระให้กับหน่วยงานตรวจสอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการตรวจสอบ ก่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล และบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารและหน่วยงานตรวจสอบ เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบเชื่อมโยงกันในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง และไร้รอยต่อ
- การพัฒนาช่องทางการแจ้งเบาะแสให้มีความหลากหลายเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย สามารถแจ้งเบาะแสได้ทันทีเมื่อพบเห็นการกระทำทุจริต
- การส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการทุจริต เพื่อเป็นพลังในการตรวจสอบการทุจริต ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ การปราบปรามการทุจริคอร์รัปชันจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน
รวมถึงการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจถึงการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทุจริตและผลที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรมของประเทศไทยไปให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทย อันจะส่งผลให้นักลงทุนชาวต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศเติบโตได้มากขึ้น และส่งผลต่อการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ให้ดีขึ้น
ด้วยวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี รัฐบาลได้ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ขึ้น ภายใต้แนวคิด “Fight Against Corruption สู้ให้สุด หยุดการโกง” โดยมีเจตนารมณ์ในการมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมทั้งแสดงจุดยืนร่วมกันของคนไทยทุกภาคส่วนที่จะไม่ทำ ไม่ทน และไม่เฉย ต่อการทุจริต อีกต่อไป
ในนามของรัฐบาล ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ทุ่มเทเสียสละในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน อย่างจริงจัง ขอให้พลังแห่งคุณความดี จงปกป้องคุ้มครองท่าน และนำพาประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรือง
"ในโอกาสนี้ ผมขอนำพี่น้องชาวไทยทุกท่านทั่วประเทศ ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) พร้อมกัน ดังนี้ ข้าพเจ้า นายชูศักดิ์ ศิรินิล ขอประกาศเจตจำนงว่า จะประพฤติปฏิบัติตน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำการทุจริต จะยึดมั่นในความยุติธรรม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ไม่กระทำการใดอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ จักปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยจิตอาสา พร้อมทำความดี ด้วยหัวใจ” นายชูศักดิ์ กล่าว