ดีเอสไอ ตั้ง 5 ที่ปรึกษาคดีพิเศษ ‘คดีดิไอคอน’ เผย ความคืบหน้าการสืบสวน 90 % คาดเสร็จ 25 ธันวาคม-ก่อนครบกำหนดฝากขังครั้งที่หก 27 ธ.ค. มีมติปฏิเสธให้รายชื่อพยาน ‘ทนายความผู้ต้องหา’ ชี้ ใช้สิทธิเกินขอบเขตตามปกตินิยมของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้าข่ายยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน พร้อมใช้มาตรการคุ้มครองพยานหากถูกข่มขู่
ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ดำเนินคดีอาญากับ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก รวม 19 ราย ในความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ฯลฯ เป็นคดีพิเศษที่ 119/2567 โดยมีผู้ต้องหาจำนวน 19 ราย เป็นนิติบุคคล 1 ราย คือ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด และมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบริษัทฯ อีก 18 คน ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลางนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 4 ธันวาคม 2567 พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้เชิญประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ประกอบด้วย ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ประกอบด้วย พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ พันตำรวจโท อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ร้อยตำรวจเอก สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
พันตำรวจโท จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการกองคดีภาษีอากร นายเขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ นางกนกลดา เจริญศรี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีการเงินฯ พันตำรวจโท อานนท์ อุนทริจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และ พันตำรวจโท ภีคเดช จุลพล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ พร้อมด้วยคณะพนักงานสอบสวนคดีในหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวน
โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าได้แต่งตั้งอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน นางสาวกนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ อัครเดช วัชรภูพงศ์ รวม 5 ท่าน เป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 30 เพื่อให้ข้อแนะนำในการดำเนินคดีและการดำเนินการอื่น เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปด้วยความรอบคอบ รัดกุม เนื่องจากเป็นคดีที่มีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการติดตามความคืบหน้าในการสอบสวน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานในส่วนของผู้ต้องหา พยานหลักฐานอื่น สรุปพยานหลักฐานและจัดทำรายงานการสอบสวน คิดเป็นความก้าวหน้าร้อยละ 90 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 - 25 ธันวาคม 2567 ก่อนครบกำหนดฝากขังครั้งที่หก ในวันที่ 27 ธันวาคม 2567 เพื่อให้พนักงานอัยการได้มีเวลาในการพิจารณาสำนวนการสอบสวนอีกไม่น้อยกว่า 12 วัน
นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้พิจารณาประเด็นที่ปรากฏข่าวกรณีมีคลิปเสียงของทนายความของผู้ต้องหาบางคน มีการพูดคุยในกลุ่มลับ ครอบครัวดิไอคอน ในลักษณะข่มขู่ว่า “รายชื่อผู้กล่าวหาคนที่แจ้งความทั้งหมดจะได้ในสัปดาห์หน้าแน่นอน ทางบริษัทพิจารณาดำเนินคดีกับตัวแทนที่ไปแจ้งความทุกคนในข้อหาแจ้งความเท็จและกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นรับโทษทางอาญา ใครที่อยู่ฝั่งผู้เสียหาย ให้ฟังไว้” ซึ่งต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก่อนหน้านี้ทนายความดังกล่าวได้ทำหนังสือมาขอรายชื่อพยานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยอ้างว่าจะช่วยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ภายหลังมีการออกรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งรับว่าเป็นเสียงของตนเองและชี้แจงสาธารณะว่าการข่มขู่ดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่เป็นความผิดอาญานั้น
ที่ประชุมเห็นว่าเมื่อมีบุคคลใดมาให้การเป็นพยานในคดีอาญากับพนักงานสอบสวนไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ย่อมต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการที่จะต้องดำเนินการให้พยานได้รับการปกป้องตามกฎหมายด้วยพฤติกรรมดังกล่าว อันเป็นการกล่าวรวมทำนองว่าจะดำเนินคดีกับพยานทุกคนที่ไปให้การต่อเจ้าหน้าที่รัฐในคดีอาญาฐานแจ้งความเท็จและกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นต้องรับโทษในทางอาญา โดยไม่แยกแยะว่าพยานคนใดที่ให้การไม่ตรงความจริงจะดำเนินคดี จึงอาจเป็นกรณีใช้สิทธิเกินขอบเขตตามปกตินิยมของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมายอาญาและเข้าข่ายไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่
อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้มีมติปฏิเสธการให้รายชื่อพยานเนื่องจากไม่มีสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งมอบให้กองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบเปิดระบบรับแจ้งข้อมูลและเบาะแสจากผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการกระทำดังกล่าวผ่านระบบ QR Code ที่หน้าเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th เพื่อจะได้พิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองพยานในคดีอาญา และมอบหมายให้กองกฎหมายพิจารณาความเห็นเสนอ เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปเพื่อคุ้มครองพยานในคดีอาญาอันเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน มิให้มีผู้ใดมารบกวนเสรีภาพในการให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ อันเป็นหลักประกันในการดำเนินคดีอาญา