ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมแล้ว เตรียมส่งกฤษฎีกาพิจารษตรวจทาน คาดเข้าสภาฯสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ ก่อนผ่าน 3 วาระได้ มิ.ย. 68 สุริยะ ยืนยันประกาศใช้ได้ ก.ย. 68 พร้อมระบุประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้าทุกสายสีราคา 20 บาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 3 ธันวาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ...ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยหลังจากนี้ จะต้องส่งร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และคาดว่าจะเสนอไปที่สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ได้ภายในสิ้นเดือนธ.ค. 2567 และคาดการณ์ว่า ร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯจะผ่านขั้นตอนพิจารณาของรัฐสภาทั้ง 3 วาระ ได้ภายในเดือนมิ.ย. 2568 และสามารถประกาศใช้ในเดือน ก.ย. 2568 ตามกรอบเวลา ที่ประชาชนจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทาง
โดยพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ นี้จะเป็นกฎหมายสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกเส้นทาง ทุกสี ซึ่งปัจจุบันกรณีมีการเปลี่ยนสายรถไฟฟ้าจะเสียค่าแรกเข้า และค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายนั้นตามระยะทางที่ใช้ ทำให้ประชาชนมีภาระค่าเดินทางสูง เมื่อมีพ.ร.บ.ตั๋วร่วม จะเก็บค่าโดยสาร 20 บาทต่อการเดินทาง 1 เที่ยวไม่ว่าจะต่อรถไฟฟ้ากี่สาย ซึ่งจะทำให้มีประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้าเดินทางมากขึ้น ในราคาประหยัดและใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าใช้รถยนต์ที่มีปัญหาการจราจรติดขัด
นอกจากนี้พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ จะมีการตั้งกองทุนตั๋วร่วม ซึ่งได้มีการกำหนดที่มาของรายได้กองทุนฯ โดยจะมีเงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้,และเงินรายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ไม่ต้องนำส่งคลัง เป็นต้น เพื่อชดเชยรายได้ให้ผู้ประกอบการเอกชน โดยคาดการณ์เบื้องต้นในช่วง 2 ปีแรกจะใช้เงินชดเชยประมาณ 16,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดว่ารายได้ของกองทุนตั๋วร่วมฯ เพียงพอที่จะนำไปชดเชยเอกชน
สำหรับร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ประกอบด้วย 7 หมวด และบทเฉพาะกาล (45 มาตรา) ดังนี้
การกำหนดคำนิยาม (มาตรา 1 - 4)
- หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (มาตรา 5 - 13)
- หมวด 2 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (มาตรา 14 - 23)
- หมวด 3 การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (มาตรา 24)
- หมวด 4 อัตราค่าโดยสารร่วม (มาตรา 25 - 28)
- หมวด 5 กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม (มาตรา 29 - 34)
- หมวด 6 การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต (มาตรา 35 - 36)
- หมวด 7 โทษทางปกครอง (มาตรา 37 - 40)
- บทเฉพาะกาล (มาตรา 41 - 45)
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม หมวด 4 อัตราค่าโดยสารร่วม จะ ทำให้กำหนดอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ การแข่งขันที่เป็นธรรม โดยให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการขนส่งสาธารณะจะต้องนำอัตราค่าโดยสารร่วมที่กำหนดตามมาตรา 26 ไปใช้บังคับ ในกรณีที่มีการจัดทำสัญญาสัมปทานสัญญาร่วมงานหรือสัญญาร่วมลงทุนที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบตั๋วร่วม
หมวด 5 กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนา และส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม โดยมีเงินทุนประเดิม ที่รัฐบาลจัดสรรให้, เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี,เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต, เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่งเมื่อมีสัญญารับประทานเงินค่าปรับ เป็นต้น