‘สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ’ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อ้างรัฐธรรมนูญ-ข้อบังคับการประชุมสภาฯ ไม่ไปชี้แจง คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎรม ปม เอื้อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี รักษาตัวโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ชี้ ไม่มีอำนาจ-ซ้ำซ้อน-องค์กรอิสระตรวจสอบแล้ว ด้าน ‘รังสิมันต์ โรม’ สส.พรรคประชาชน-ประธานกมธ.ความมั่นคง กวักมือเรียก ‘ทักษิณ’ ลบข้อครหา ป่วยไม่จริง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงข่าวกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎรมีหนังสือเชิญไปให้ข้อมูลเรื่องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ในพรุ่งนี้ (22 พ.ย.2567) ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อเนื่องจากการเชิญผู้อำนวนการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปชี้แจงเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา ว่า ทุกภาคส่วนมีหน้าที่ตามกฎหมายและความรับผิดชอบในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้ความร่วมมือในสิ่งที่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่แต่ละองค์กร
“กระทรวงยุติธรรมมีความไม่สบายใจ อยากให้ความร่วมมือเต็มที่กับกมธ.ความมั่นคงฯ แต่เมื่อเราพิจารณาอำนาจหน้าที่และกรอบกฎหมาย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 60 ข้อบังคับการประชุมสภาฯ ระเบียบการประชุมของสภาฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการว่าในการทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับกมธ.หลายคณะ พ.ศ.2562 ดังนั้น กรมราชทัณฑ์เห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกมธ.ความมั่นคงฯ ที่จะมาตรวจสอบหรือรวบรวมเรื่องราว”นายสมบูรณ์กล่าว
@ อ้าง 3 ประการ ไม่ไปชี้แจง ปม ชั้น 14
นายสมบูรณ์กล่าวว่า ดังนั้น รองอธิบดีกรมราชทัฑณ์จึงได้มีหนังสือไปยังนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และกมธ.ความมั่นคงฯ ทุกคน ในข้อห่วงใยและข้อกังวลในข้อกฎหมาย จึงสรุปว่า กรมราชทัณฑ์เห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกมธ.ความมั่นคงฯ 3 ประการ ดังนี้
ประการแรก รัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 129 วรรคสอง กำหนดให้กมธ. ทำหน้าที่สอบถามข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในการตั้งกมธ. โดยข้อบังคับการประชุมสภาฯ พ.ศ.2562 ข้อ 90 (9) กำหนดกรอบอำนาจหน้าที่ของกมธ.ความมั่นคงฯ ว่า มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ การค้าชายแดน การค้าผ่านแดน จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรณเพื่อการค้า ช่องทางธรรมชาติและช่องทางตามกฎหมายศุลกากร ฯ และกมธ.ต้องทำตามกรอบอำนาจหน้าที่ในการจัดตั้ง
ประการที่สอง การดำเนินการเรื่องนี้เป็นการดำเนินการซ้ำซ้อนกับกมธ.ชุดอื่นของสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 วรรคสอง และข้อบังคับการประชุมสภา ฯ ข้อ 90 วรรคสี่ และระเบียบการประชุมสภาฯ ในการพิจารณาเรื่องซ้ำซ้อนจะต้องมีการรวมเรื่องและพิจารณาเป็นคณะเดียวกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของประธานสภาที่จะชี้ขาดว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกมธ.ชุดใด ถ้าอยู่ในกมธ. 2 คณะขึ้นไปก็ต้องมาตกลงกันว่าใครเป็นประธานการประชุม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กมธ.ตำรวจฯ มีการตรวจสอบเรื่องนี้มายังกระทรวงยุติธรรม โดยมีหนังสือมายังกรมราชทัณฑ์ไปให้ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2566 และมกราคม 2567 กมธ.ตำรวจได้ไปตรวจสอบสถานที่โรงพยาบาลตำรวจแล้ว
“การดำเนินการของกมธ.ความมั่นคงฯ จึงถือเป็นการซ้ำซ้อนและไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 วรรคสอง ข้อบังคับการประชุมสภาฯ และระเบียบการประชุมสภาฯ และถ้าอยู่ในอำนาจก็ต้องอยู่ในกมธ.ตำรวจฯ จะมาแยกไม่ได้”นายสมบูรณ์กล่าว
@ แทงกั๊ก ‘ทวี’ ไป-ไม่ไป
ประการที่สาม ปัจจุบันมีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการไต่สวนและรวบรวมข้อเท็จจริงเรื่องนี้ มีการเชิญเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ไปให้ปากคำ และมีการข้อเอกสารจากกรมราชทัณฑ์ หรือ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีการดูข้อเท็จจริงและสถานที่เกิดเหตุและมีความเห็นในเรื่องนี้ หรือคณะกรรมกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็มีการทำความเห็นเรื่องนี้ไว้
“กรมราชทัณฑ์มีความเห็นว่า กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้คุณให้โทษเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการอยู่แล้ว และระหว่างพิจารณาดำเนินการ เพราะฉะนั้นการดำเนินการของสภาฯ โดยกมธ.ความมั่นคงฯ เราให้ความเคารพ ถ้าถูกต้องตามกฎหมาย แต่เราคำนึงถึงมีการตรวจสอบขององค์กรอิสระอยู่แล้ว”นายสมบูรณ์กล่าว
นายสมบูรณ์กล่าวว่า ส่วนพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรมจะไปให้ข้อมูลต่อกมธ.ความมั่นคงฯหรือไม่ ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่มีความกังวลในเรื่องดังกล่าว
@ ‘โรม’ แจง อำนาจเรียก
ด้านนายรังสิมันต์ โรม สส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ. ความมั่นคงฯ กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปติดกับชื่อของกมธ.ความมั่นคง ฯ เพราะชื่อเต็ม ๆ มีคำว่า การปฏิรูปประเทศด้วย การปฏิรูปประเทศเป็นหนึ่งในภารกิจของกมธ.ฯ ถ้าจะโทษว่า ทำไมกมธ.ชุดนี้มีอำนาจในการพิจารณา ต้องไปโทษคนที่ร่างข้อบังคับการประชุม
“ในเมื่อเรามีภารกิจในเรื่องการปฏิรูปประเทศ ต้องถามว่า เรื่องชั้น 14 ท้าทายกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ถ้าเรารู้สึกท้าทาย ผมรู้สึกว่าท้าทาย เพราะเกิดคำถามว่า ตกลงแล้วมาตรฐานอยู่ตรงไหน ผมคิดว่าเรื่องนี้อยู่ในกรอบที่จะพิจารณาได้ และถ้าถามว่า ทำไมต้องเป็นช่วงเวลานี้ เพราะมีข้อมูลมากขึ้น เช่น กรณีของพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (อดีต ผบ.ตร.) รวมถึงพลตำรวจเอก สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรองผบ.ตร. ที่บอกว่าเคยไปเจอคุณทักษิณที่ชั้น 14”นายรังสิมันต์กล่าว
นายรังสิมันต์ ยังกล่าวถึงการเชิญนายทักษิณ มาให้ชี้แจงกรณีเดียวกันในวันพรุ่งนี้ด้วยว่า ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าบุคคลที่เชิญมาจะมาใครมาบ้าง เพราะปกติแล้วจะทราบในเช้าวันที่นัดมาชี้แจง ว่าสุดท้ายจะมีใครมาบ้าง
@ กวักมือเรียก ‘ทักษิณ’ ลบครหา ป่วยไม่จริง
นายรังสิมันต์กล่าวว่า ไม่ว่าจะมาหรือไม่มา ตนคิดว่า สุดท้ายข้อวิจารณ์ของสังคมได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นการไม่มานั้น อยากให้พิจารณาด้วยข้อเท็จจริงว่า การไม่มาก็ไม่มีโอกาสมาชี้แจง แต่ถ้ามา และมั่นใจว่าสิ่งที่ทำเป็นการกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำที่อยู่ในวิสัยว่า ไม่ได้มีมาตรฐานพิเศษเหนือกว่าใคร ไม่มีความจำเป็นต้องกังวล ก็มาบอกกับกมธ.ความมั่นคง ฯว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำไปถูกต้องอย่างไร
“กรณีของคุณทักษิณ ถ้าเกิดว่าคุณทักษิณป่วย นี่คือโอกาสที่คุณทักษิณจะได้ลบข้อครหาข้อวิจารณ์ต่าง ๆ ที่สังคมมีต่อคุณทักษิณ นี่คือโอกาสที่ดี”นายรังสิมันต์กล่าว
นายรังสิมันต์กล่าวว่า การเปิดพื้นที่ของกมธ.ในการพิจารณา เป็นโอกาสของทุกฝ่าย คำถามที่กมธ.ความมั่นคง ฯ ถาม เป็นคำถามที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และอยู่บนหลักกฎหมาย จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องกังวลว่า กมธ.ความมั่นคง ฯ เล่นการเมืองหรือไม่ กลั่นแกล้งกันหรือไม่ ถ้าตอบคำถามได้ สุดท้ายสังคมจะเชื่อข้อเท็จจริงที่ฝ่ายรัฐบาลอธิบาย
“อยากให้มองว่าเป็นโอกาสในการพิจารณา และผมยืนยันว่า ถ้าสุดท้ายผู้ที่ถูกเชิญไม่มา ข้อวิจารณ์ต่าง ๆ ของสังคม สุดท้ายก็เหมือนกับว่าสังคมได้รับคำตอบแล้วว่า ตกลงแล้วเรื่องชั้น 14 ความจริงคืออะไร”นายรังสิมันต์กล่าว
นายรังสิมันต์ยังกล่าวถึงการไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลในการประชุมกมธ.ความมั่นคง ฯ ครั้งที่ผ่านมาว่า ไม่ใช่เรื่องคว้าน้ำเหลว ตนคิดว่าได้ข้อเท็จจริงหลายอย่าง ที่ไม่เคยมีใครทราบมาก่อน แต่หลายเรื่องพิศวง เช่น การพิจารณาโดยใช้เวลาในการตัดสินใจเพียง 4 นาที และไม่มีแม้กระทั่งแพทย์ดูอาการนายทักษิณ
“ผมคิดว่าไม่ได้เป็นการคว้าน้ำเหลว ผมยังยืนยันว่า การไม่ได้คำตอบก็คือคำตอบอย่างหนึ่ง เมื่อคุณคิดว่า วิธีการที่จะทำให้กมธ.ไม่ได้รับคำตอบ วิธีการที่จะไม่ให้ความร่วมมือกับกมธ. วิธีการเหล่านี้ มันคือคำตอบของประชาชน มันคือคำตอบที่สังคมจะได้รับจากผู้มีอำนาจ และคำตอบที่ประชาชนได้รับ ผมเชื่อว่าไม่ใช่ผลดีของผู้มีอำนาจเลย ผมคิดว่าควรใช้เวทีนี้ โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อการสร้างความเชื่อมั่นของระบบยุติธรรม”นายรังสิมันต์กล่าว
@ กู้วิกฤตไม่ไว้วางใจรัฐบาล
นายรังสิมันต์กล่าวว่า ถึงแม้ว่ากมธ.ความมั่นคง ฯจะไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษกับนายทักษิณได้ แต่ตนคิดว่า จะเป็นประโยชน์ต่อนายทักษิณเอง
“ต้องยอมรับว่า วันนี้สังคมวิจารณ์คุณทักษิณเรื่องชั้น 14 มาก มาจากทุกฝักทุกฝ่าย ทุกทิศทุกทาง และคุณทักษิณก็พูดเองว่า คุณทักษิณอยู่ในสถานะเป็นผู้ครอบครองนายกรัฐมนตรี ดังนั้นคุณทักษิณก็คงจะเป็นตัวแปรที่สำคัญของความเป็นอยู่ของรัฐบาลนี้ไม่มากก็น้อย ถ้าทำให้สถานการณ์ทางการเมืองที่มีข้อวิจารณ์ต่อคุณทักษิณและรัฐบาลเบาลง การมาของคุณทักษิณก็จะช่วยรัฐบาล”
นายรังสิมันต์กล่าวว่า สมมุติว่า นายทักษิณบริสุทธิ์ใจ นายทักษิณคิดว่าไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด ไม่ได้ใช้บารมี นายทักษิณป่วยจริง ตนคิดว่าจะจบ ประชาชนไว้วางใจรัฐบาลมากขึ้น วันนี้ต้องยอมรับว่า ปัญหา คือ ประชาชนจำนวนมากไม่ไว้ใจรัฐบาล ทำให้สุดท้ายไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรก็จะมีข้อวิจารณ์ตลอด เพราะเริ่มต้นจากการสร้างความไม่ไว้วางใจ ทำให้เรื่องชั้น 14 เป็นเรื่องพิศวง การพิจารณาของกมธ.ความมั่นคง ฯ ไม่เคยยากเหมือนครั้งนี้มาก่อน
“พอทำให้เรื่องนี้ (ชั้น 14) เป็นเรื่องพิศวง เป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิจารณากันได้ สุดท้ายความไว้วางใจที่ประชาชนมองรัฐบาลว่าพยายามปกปิดอะไรบางอย่างก็จะเกิดขึ้นต่อไป ดังนั้น นี่คือโอกาสที่จะเคลียร์เรื่องนี้จบ”นายรังสิมันต์กล่าว
@ อย่าเป็นส่วนหนึ่งของความไม่ชอบธรรม
นายรังสิมันต์กล่าวว่า วันนี้กมธ.ความมั่นคงฯ ยังไม่ได้มองถึงการกลับบ้านของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น้องสาวของนายทักษิณ มองเพียงว่า การที่นายทักษิณไปอยู่ชั้น 14 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ป่วยจริงหรือไม่ และการอยู่เป็นระยะเวลานานถูกต้องหรือไม่ และมาตรฐานดังกล่าวจะถูกปรับใช้กับนักโทษคนอื่นๆ ที่มีปัญหาสุขภาพได้หรือไม่
“ไม่ต้องทำนายว่าคุณยิ่งลักษณ์จะได้กลับบ้านหรือไม่ รอดูข้อเท็จจริง สุดท้ายจะมีกลไกทางกฎหมายอย่างไร ถ้าคุณยิ่งลักษณ์จะกลับมาก็ต้องดูว่า ใช้วิธีการอย่างไร
ปัญหาของการเมืองไทยมี ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวคุณทักษิณ มีความไม่ชอบธรรม แต่วิธีการแก้ปัญหาต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของความไม่ชอบธรรม หรือปัญหาการเมืองที่สะสมอยู่ ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในเวลานี้ คือ เราต้องพยายามหาทางออก ขณะเดียวกันการใช้วิธีพิสดารที่จะทำให้ตัวเองกลับมาประเทศไทยได้ คงเป็นวิธีการที่เรายอมรับไม่ได้เช่นเดียว”นายรังสิมันต์กล่าว