‘ดีเอสไอ’ รับคดีใช้ไฟหลวงขุดบิทคอยน์ที่ จ.กาญจนบุรี เป็นคดีพิเศษ พบพฤติการณ์ดัดแปลงหม้อแปลงไฟฟ้า-ติดตั้งอุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์ หวั่นส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจประเทศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อนุมัติให้รับคดีการลักลอบใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อขุดเหมืองเงินดิจิทัล (บิทคอยน์) เป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เนื่องจากเป็นคดีที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคกลาง) จังหวัดนครปฐม ได้ยื่นเรื่องดีเอสไอ หลังพบการใช้ไฟฟ้าโดยผิดกฎหมายเพื่อลักลอบขุดบิทคอยน์ในพื้นที่ดังกล่าว ดีเอสไอจึงได้ดำเนินการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน จนสามารถพิสูจน์ทราบบ้านต้องสงสัย และเครือข่ายผู้ลักลอบกระทำความผิด รวมตัวเช่าบ้านและอาคารพาณิชย์ กระจายตัวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ขออนุญาตหมายค้น และลงพื้นที่เข้าค้นบ้าน และอาคารพาณิชย์ จำนวน 15 แห่ง พบเครื่องขุดบิทคอยท์ จำนวน 458 เครื่อง และควบคุมตัวเจ้าของสถานที่และผู้ดูแล (แอดมิน) ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าม่วง ดำเนินคดี
พฤติการณ์เป็นผู้ลักลอบนำเข้าอุปกรณ์ขุด จากต่างประเทศ และมีการดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าอย่างซับซ้อน รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์ เพื่อควบคุมการวัดค่าพลังงานและขัดขวางการบันทึกการใช้ไฟฟ้าที่แท้จริง ซึ่งเข้าข่ายการกระทำความผิดตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ.(ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ข้อ 15 คดีความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีลักษณะเป็นคดีความผิด ทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศด้านพลังงานและสาธารณูปโภค และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งเข้าลักษณะการกระทำความผิดตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1)
การรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ จะนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนขยายผลและปราบปรามดำเนินคดี กับเครือข่ายผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับโครงสร้างเศรษฐกิจ ระบบพลังงาน และสาธารณูปโภคโดยรวมของประเทศ