‘ครม.’เห็นชอบร่างระเบียบฯหลักเกณฑ์การกู้เงินของ ‘อปท.’ เปิดทางกู้เงินลงทุน โครงการฯที่แข่งขันกับเอกชนได้ หากมีความจำเป็น เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์ การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คนน.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี ตรวจพิจารณาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
สำหรับสาระสำคัญร่างระเบียบฯฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2561 โดยปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารหนี้ การกำกับดูแล และการรายงานข้อมูลหนี้ของ อปท. เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้ของ อปท. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม ตลอดจนมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขอกู้เงินเป็นไปตามลำดับขั้นตอนและมีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยยังคงหลักการเดิม ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงิน การบริหารหนี้ และการกำกับดูแลให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยกำหนดโครงการลงทุนที่ อปท. จะต้องดำเนินการกู้เงิน เพื่อนำมาใช้ดำเนินโครงการ อปท. สามารถดำเนินการแข่งขันกับเอกชนได้ เฉพาะกรณีเป็นโครงการที่มีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำบริการสาธารณะ จากระเบียบฯเดิมที่กำหนดให้โครงการลงทุนที่ อปท. จะต้องดำเนินการกู้เงิน เพื่อนำมาใช้ดำเนินโครงการนั้น จะต้องไม่เป็นโครงการที่ดำเนินการแข่งขันกับเอกชน
ทั้งนี้ ในกรณีที่ อปท. จะกู้เงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศหรือกู้เงินจากต่างประเทศจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีก่อนด้วย
2.กำหนดกระบวนการก่อนการเสนอขอกู้เงินของ อปท. โดยกำหนดให้ อปท. ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ และแสดงรายได้หรือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ รวมทั้งรายละเอียดวงเงินกู้ และแผนการชำระหนี้เงินกู้ ทั้งนี้ หากโครงการมีผลกระทบต่อชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม ให้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและเปิดเผยต่อสาธารณะ พร้อมทั้ง จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3.ปรับปรุงบทนิยามคำว่า ‘ภาระชำระหนี้’ เพิ่มเติม โดยให้รวมถึงค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการกู้เงิน เพื่อให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด ที่เป็นต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการกู้เงิน รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของ คนน. สถาบันการเงินและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ
4.กำหนดแนวทางการรายงานข้อมูลหนี้ของ อปท. โดยให้ อปท. จัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ของ อปท. เพิ่มเติม โดยกำหนดการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการกู้เงินให้ครอบคลุมข้อมูลหนี้เงินกู้จากเงินทุนส่งเสริมกิจการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เงินทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล เงินทุนส่งเสริมกิจการของ อปท. อื่น และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
โดยให้มีการนำส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังหน่วยงานกลางในการกำกับดูแล อปท. แต่ละประเภท และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อให้กรอบในการคำนวณเพดานการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการลงทุนครอบคลุมถึงต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการกู้เงินของ อปท. ได้อย่างครบถ้วน
รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงการคลังรายงาน ครม. ว่า เมื่อร่างระเบียบฯฉบับนี้มีการประกาศใช้บังคับแล้ว จะส่งผลให้ อปท. เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ในกรณีเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ตลอดจนกรณี อปท. กู้เงินเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศหรือกู้เงินจากต่างประเทศ จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก รมว.คลัง และ ครม.ก่อนดำเนินการ
รวมถึง อปท. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นต้องจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ของ อปท. และรายงานการกู้เงินจากเงินทุนส่งเสริมกิจการองค์การบริหารส่วนจังหวัด เงินทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล เงินทุนส่งเสริมกิจการของ อปท. อื่น และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ดี สบน. ได้ดำเนินโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบวินัยการก่อหนี้และการกำกับดูแลการกู้เงินของ อปท. ในท้องถิ่นต่างๆ มาโดยตลอด อีกทั้งยังได้ประสานงานกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องด้วย