‘มนพร’ ยืนยันรัฐบาลยังไร้แผนพัฒนา ‘เอนเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์’ บนท่าเรือคลองเตย ชี้คณะกรรมการที่ ‘แพทองธาร’ ตั้งเตรียมประชุมนัดแรก ต.ค.นี้ เตรียมตั้งอนุฯ 3 ชุดรวมข้อมูล แย้ม ‘เซ็นทรัล’ สนใจทำมิกซ์ยูส
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 ตุลาคม 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าหลังจากที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งต้้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ขณะนี้อยู่ระหว่างการดูคิวของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมครั้งแรกในเดือน ต.ค. 2567 นี้
เบื้องต้น มีการเตรียมจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านบริหารพื้นที่, ด้านการใช้ประโยชน์พื้นที่, ด้านการดูแลชมชน โดยอย่ระหว่างรอดูคิวว่างของนายสุริยะอยู่
นางมนพรกล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญในตอนนี้คือ ในพื้นที่ของท่าเรืองคลองเตย ทางกรมศุลกากรได้นำไม้พะยูงที่ตรวจยึดจากคดีความต่างๆ มาขอใช้พื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ประมาณ 20 ไร่ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมเห็นว่า ทางกรมศุลกากรควรขนย้ายออกไปใช้พื้นที่อื่น เนื่องจาก กทท.และกระทรวงเห็นว่า ควรนำพื้นที่ดังกล่าวมาทำประโยชน์ด้านอื่น
เมื่อถามว่าในพื้นที่ของท่าเรือคลองเตย มีเอกชนรายใดสนใจที่จะเข้ามาลงทุนการทำสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) หรือไม่ นางมนพรกล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่มีแผนที่จะทำสถานบันเทิงครบวงจรในขณะนี้ ท่าเรือคลองเตยมีแผนพัฒนาให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) เท่านั้น เนื้อที่รวม 2,300 ไร่ แต่ยอมรับว่า ในพื้นที่นี้มีแผนจะจัดสรรบางส่วนเป็นโครงการแบบ Mixed Use จำนวนหนึ่ง โดยกลุ่มที่สนใจคือ กลุ่มธุรกิจเครือเซ็นทรัล ซึ่งทางเซ็นทรัลเคยทำผลการศึกษาพื้นที่นี้มาก่อน
ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนคลองเตย นางมนพรกล่าวว่า กระทรวงไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้คนกลุ่มนี้ ดังนั้น ในเบื้องต้นจะไม่เข้าไปยุ่งโดยตรง แต่ก็มีแผนที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ โดยสั่งการนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. ไปดูต้นแบบการพัฒนาแฟลตดินแดงใหม่ของการเคหะแห่งชาติว่ามีกระบวนการอย่างไร ซึ่งจะมีการหารือในการประชุมครั้งแรกนี้ด้วย
ขณะที่การบริหารพื้นที่ท่าเรือคลองเตย จะรวมถึงการพิจารณาพื้นที่ที่เป็นคลังเก็บน้ำมันของ บจ.เชลล์แห่งประเทศไทย, บมจ.ปตท. และบมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น หรือไม่นั้น นางมนพรกล่าวว่า การย้ายคลังน้ำมันออกจากพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องดูก่อนว่าระยะเวลาเช่าพื้นที่เหลืออีกเท่าไหร่ อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องเร่งเนื้องานถมทะเลเพื่อก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่จ.ระยอง ด้วย เพราะถ้าหากจะต้องย้ายคลังน้ำมันไปที่นั่น จะต้องจัดเตรียมพื้นที่อย่างไร และรัฐบาลต้องสนับสนุนอะไรหรือไม่ จะต้องมีแผนรองรับให้ดีก่อน
มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม