ครม.ไฟเขียว ทบทวนหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ครัวเรือนละ 9,000 บาททุกครัวเรือน เบ็ดเสร็จ 338,391 ครัวเรือน 57 จังหวัด จ่ายไม่ครบได้รับเงินย้อนหลัง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 8 ตุลาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบทบทวนหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ตามที่ครม.ได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ดังนี้
กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขัง ติดต่อก้นเกิน 7 วัน ให้ความช่วยเหลืออัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท
สำหรับผู้ประสบภัยได้รับเงินช่วยเหลือตามมติครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ไปแล้ว ให้จ่ายเงินช่วยเหลือ ฯ เพิ่มเติมให้ครบ 9,000 บาท กรณีผู้ประสบภัยที่ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ ฯ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือ ฯ ตามหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินฯ ที่ขอทบทวนครั้งนี้
สำหรับประโยชน์และผลกระทบที่จะได้รับ ครัวเรือนผู้ประสบสาธารณภัย จำนวน 338,391 ครัวเรือน ตามข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ/พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 57 จังหวัด
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เดิม คือ
- กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท
- กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท
- กรณีพักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท