อัยการสูงสุด ‘ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ’ มอบนโยบายการบริหารงาน 3 ด้าน ‘ประชาชนต้อง้ข่าถึงกระบวนการยุติธรรมง่ายขึ้น-ดึงเทคโนโลยีมาช่วยงาน-สร้างทัศนคติในการทำงานต้องซื่อสัตย์สุจริต’ พร้อมเซ็นตั้งคณะโฆษก-ที่ปรึกษารวม 8 คน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 4 ตุลาคม 2567 นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด แถลงนโยบายการบริหารงานหลังจากที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นอัยการสูงสุดคนที่ 19
นายไพรัช กล่าวว่า มีความมุ่งมั่นตั้งใจจะสร้างความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาองค์กรอัยการ ภายใต้แนวคิด “ซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงธรรม สร้างความยุติธรรมแก่ประชาชน” โดยมีนโยบายในการบริหารงาน 3 ด้าน ดังนี้
นโยบายที่ 1 “การสร้างความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม” มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนให้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุด ตลอดจนการสร้างเครือข่ายการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนางานอำนวยความยุติธรรมทางอาญา โดยยึดหลักนิติธรรม โดยเฉพาะการวินิจฉัยสั่งคดีด้วยความเป็นธรรม
นโยบายที่ 2 “มุ่งพัฒนาองค์กรอัยการ” เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาขีดสมรรถนะของสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและประเทศชาติ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการปฏิบัติงานอำนวยความยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน โดยมุ่งพัฒนากระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับกระแสความเจริญของเทคโนโลยี ตามบริบทของสังคมในปัจจุบันและอนาคต
นโยบายที่ 3 “การส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม” สร้างความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ขององค์กรอัยการ และส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรมีทัศนคติในการทำงานเพื่อประชาชนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และตระหนักถึงจริยธรรมในวิชาชีพ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนเชิดชูคนดีและคนเก่งให้มีบทบาทนำในสำนักงานอัยการสูงสุด
ทั้งนี้ อัยการสูงสุดยังได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า นโยบายทั้ง 3 ประการ จะสัมฤทธิ์ผลได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของคณะผู้บริหาร ข้าราชการฝ่ายอัยการ ตลอดจนบุคลากรทุกคนในองค์กร ซึ่งในการบริหารราชการสำนักงานอัยการสูงสุดจะเน้นหลักการบริหารงานแบบกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของบุคลากร และมุ่งเน้นการสร้างคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีให้แก่บุคลากรในสำนักงานอัยการสูงสุด โดยจะจัดให้มีการประชุมคณะผู้บริหารเพื่อรับทราบปัญหา ข้อขัดข้อง ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและความคืบหน้าในการปฏิบัติงานเป็นระยะ ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และขอให้พนักงานอัยการทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ “ซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงธรรม สร้างความยุติธรรมแก่ประชาชน” ดังถ้อยคำตอนหนึ่งที่พนักงานอัยการได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 37
@ตั้งคณะโฆษก ‘อัยการสูงสุด’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 67 นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ 2263/2567 ลงวันที่ 1 ต.ค. 2567 เรื่อง แต่งตั้งโฆษกและรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้งานด้านการสื่อสารองค์กร การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การสร้างความรับรู้และความเข้าใจในบทบาท ภารกิจ และการดำเนินงานของสำนักงานอัยการสูงสุด ตลอดจนการให้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ ของสำนักงานอัยการสูงสุดในการปฏิบัติภารกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และถูกตรวจสอบได้ โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้คณะที่ปรึกษาโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ประกอบด้วย
1. นายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ
2. นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ อัยการอาวุโส สำนักงานคดีอาญา
3. นายยุทธการ สุทธิพงษ์ อัยการอาวุโส สำนักงานคดีอาญาพระโขนง
คณะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ประกอบด้วย
1. นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ เป็นโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
2. นายกุญช์ฐาน์ ทัดทูน อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานวิชาการ เป็นรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
3. นายจิตภัทร พุ่มหิรัญ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
4. นางสาวฐิติวดี สินธวณรงค์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานต่างประเทศ เป็นรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
5. นางสาววรันธร วานิชถาวร อัยการประจำกอง สำนักงานต่างประเทศ เป็นรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
โดยให้คณะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1. กำหนดแนวทางการสื่อสารองค์กร ประสานงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของสำนักงานอัยการสูงสุดในเชิงรุกและเชิงรับโดยให้สอดคล้องกับนโยบายอัยการสูงสุดแผนยุทธศาสตร์และแผน ปฏิบัติการของสำนักงานอัยการสูงสุด
2. ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ ให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับนโยบาย ภารกิจ โครงการ ตลอดจนผลการปฏิบัติงานตามแผนงานโครงการต่าง ๆ ของสำนักงานอัยการสูงสุด อย่างต่อเนื่องและชัดเจน
3. แถลงข่าวและชี้แจงข้อมูลต่าง ๆ ในนามสำนักงานอัยการสูงสุด กรณีเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสำนักงานอัยการสูงสุด ตลอดจนพิจารณาให้ข้อมูลข่าวสารที่ตรงกับข้อเท็จจริงและทันต่อเหตุการณ์ในทุกกรณีตามความเหมาะสม โดยละเว้นการตอบโต้ทางการเมืองและการชี้แจงที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ทั้งนี้ ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่ง เกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง
4. รับฟังข้อมูลข่าวสารและข้อคิดเห็นจากประชาชนหรือสื่อมวลชน เพื่อนำมาพิจารณาดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง
5. ติดตาม รวบรวม และตรวจวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสำนักงานอัยการสูงสุด โดยเฉพาะข่าวสาร ที่มีผลกระทบต่อสำนักงานอัยการสูงสุด
6. วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์สำนักงานอัยการสูงสุด และพิจารณาหาแนวทางแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขต่ออัยการสูงสุด รวมทั้งดำเนินการแก้ไขผลกระทบตามที่อัยการสูงสุดมอบหมายโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ ให้ติดตามผลการแก้ไขเรื่องที่ได้ดำเนินการแล้ว ผ่านการตรวจติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด โดยจัดทำรายงานข่าวพร้อมบทวิเคราะห์ผลกระทบต่อภาพลักษณ์สำนักงานอัยการสูงสุด และรายงานอัยการสูงสุดทราบทันที
7. ประสานงานเชื่อมโยงกับสื่อมวลชน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดประโยชน์ในการสื่อสาร การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างการรับรู้ ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน
8.ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ให้สามารถเชิญพนักงานอัยการ หรือผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในสำนักงานอัยการสูงสุด มาให้ถ้อยคำ หรือชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารหลักฐาน หรือให้ส่งเอกสารหลักฐาน เพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม หรือให้ส่งข้อมูลและข่าวสาร และให้หน่วยงานภายในสำนักงานอัยการสูงสุดสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อได้รับการร้องขอ
9. ควบคุม ตรวจสอบ ตลอดจนกำกับดูแลมิให้พนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นใดที่มิใช่คณะโฆษก สำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินการใดตามข้อ 1. ถึงข้อ 8. เว้นแต่กรณีตามข้อ 12
10. การขอใช้อัตรากำลัง งบประมาณ เครื่องมือเครื่องใช้ เพื่อให้การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งนี้สัมฤทธิ์ผล ให้พิจารณาเสนออัยการสูงสุดตามเหตุผลและความจำเป็น
11. ให้สำนักสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นหน่วยงานหลักสนับสนุนงาน ของคณะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
12. แต่งตั้งคณะทำงานหรือมอบหมายบุคคลที่เห็นสมควร เพื่อร่วมดำเนินการในการประชาสัมพันธ์ ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ โดยได้รับความเห็นชอบจากอัยการสูงสุด
13. รายงานการดำเนินการให้อัยการสูงสุดทราบ
14. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่อัยการสูงสุดมอบหมาย