ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับ 2 คำร้อง อดีตผู้สมัคร สว. ร้อง กกต. ประกาศผลเลือก สว. ไม่สุจริต-ไม่เที่ยงธรรม เป็นการล้มล้างการปกครอง – มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัย พ.ร.บ.สัญชาติ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 2 ตุลาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจหลายคดี อาทิ การไม่รับคำร้องของอดีตผู้สมัคร สว.ร้องกกต.ประกาศผลการเลือก สว.ไม่สุจริต-ไม่เที่ยงธรรม และ การลงมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สัญชาติ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ รายละเอียดดังนี้
@ ไม่รับคำร้อง อดีตผู้สมัคร สว. ร้อง กกต.
นายนพดล สุดประเสริฐ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธธรรมนูญ มาตรา 213 (เรื่องพิจารณาที่ ต.43/2567)
นายนพดล สุดประเสริฐ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 15 วรรคสามที่บัญญัติว่า ผู้สมัครมีสิทธิสมัครในกลุ่มตามมาตรา 11 (20) ได้ แม้จะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านอื่นในกลุ่มอื่น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สิทธิในการยื่นคำร้องไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 292 และมาตรา 231 (1) กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 48 ประกอบมาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธธรรมนูญ มาตรา 213
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
นอกนี้ยังศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำวินิจฉัยคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธธรรมนูญ มาตรา 49 (เรื่องพิจารณาที่ 31/2567)
พลตำรวจโท กฤตไชย ทวนทอง ที่ 1 และนายแดน ปรีชา ที่ 2 (ผู้ร้องรวม 2 คน) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องรวม 8 คน) ร่วมกันดำเนินการประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภาออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ทั้งที่มีเหตุอันควรสงสัยและมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ระดับจังหวัด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2567 และระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การกระทำของผู้ถูกร้องที่มีได้สั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิกการเลือก และสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธธรรมนูญและกฎหมายเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ทำให้เสื่อมทราม อ่อนแอลง หรือทำลายล้างสถาบันนิติบัญญัติอันเป็นหนึ่งนึ่งในอำนาจอธิปไตย เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องทั้งแปด กระทำการใด ๆ อันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย (อ่านรายละเอียด)
@ มติเอกฉันท์ ตัดวันลดลงโทษอยู่ในศาลปกครองกลาง
นายฟิดเดลิส โรตานน่า งวาบูบา (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 (เรื่องพิจารณาที่ ต. 42/2567)
นายฟิดเดลิส โรตานน่า งวาบูบา (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่า กรมราชทัณฑ์ (ผู้ถูกร้องที่ 1) มีคำสั่งสั่งลงโทษทางวินัยตัดจำนวนวันที่ได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก เนื่องจากผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ เป็นการทารุณกรรมโดยวิธีการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ร้อง เป็นการคุมขังโดยมิชอบ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ และมาตรา 29 วรรคสอง
อีกทั้งเรือนจำกลางบางขวาง (ผู้ถูกร้องที่ 2) ขัดขวางมิให้ผู้ร้องใช้สิทธิฟ้องคดีมายังศาลรัฐธรรมนูญนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 41 (1) ถึง (3)
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย หากผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ผู้ร้องอาจใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมต่อศาลอื่นได้ เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
ประกอบกับผู้ร้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอื่น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (2) และ (4) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัธรรมนญ มาตรา 213
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธธรรมนูญ มาตรา 49 (เรื่องพิจารณาที่ 29/2567)
นายไพโรจน์ พิริยชาติ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า ผู้ร้องเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งสำนักงานประกันสังคม กรณีให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ จึงฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง และศาลฎีกามีคำมีดำพิพากษาที่ 3616/2564 ว่า คำสั่งสำนักงานประกันสังคมชอบแล้ว
ผู้ร้องเห็นว่าคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธธรรมนูญ มาตรา 3 และมาตรา 188 และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และการกระทำขององค์คณะพิพากษาศาลฎีกา (ผู้ถูกร้อง) เป็นการใช้อำนาจเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เนื่องจากคำพิพากษาดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาวินิจฉัยคดีระหว่างผู้ประกันตนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทำให้บุคคลถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏว่า เป็นกรณีที่ที่ผู้ร้องโต้แย้งการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้ถูกร้องซึ่งเป็นการใช้อำนาจตุลาการของผู้พิพากษา หรือตุลาการที่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 188 วรรคหนึ่งและวรรคสอง การกระทำของผู้ถูกร้องไม่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
@ เสียงข้างมาก พ.ร.บ.สัญชาติ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธธรรมนูญมาตรา 231 (1) ว่า พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 17 และมาตรา 18 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 9/2567)
ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่า พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 17 และมาตรา 18 ซึ่งบัญญัติให้ถอนสัญชาติบุคคลโดยการเกิดได้ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง หรือไม่
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 17 และมาตรา 18 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 7 คน คือ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ นายนภดล เทพพิทักษ์ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 2 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายอุดม รัฐอมฤต