วุฒิสภา ตีตก ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับ สส. เกณฑ์การทำประชามติ 2 ชั้น นิกร กางไทม์ไลน์ ชง ตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภา 20 คน ต่อลมหายใจ แก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 30 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา (สว.) มีระเบียบวาระพิจารณา เรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ แถลงรายงานต่อที่ประชุม โดยชื่อร่าง ไม่มีการแก้ไข คำปรารภ ไม่มีการแก้ไข มาตรา 1 ถึงมาตรา 6 ไม่มีการแก้ไข มาตรา 7 มีการแก้ไข มีกรรมาธิการสงวนความเห็น
โดยที่ประชุมลงมติมาตรา 7 เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของคณะกรรมมาธิการ ฯ ด้วยคะแนน 160 เสียง ไม่เห็นชอบ 21 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง
ทั้งนี้ ที่ประชุมลงมติวาระที่สาม โดยที่ประชุมเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ฯ 163 เสียง ไม่เห็นด้วย 19 งดออกเสียง 7 และที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกรรมาธิการ โดยหลังจากนี้จะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
นายนิกร จำนง กรรมาธิการอภิปรายก่อนหน้านี้ ว่า จะมีปัญหาตามมา เพราะหากที่ประชุมสว.เห็นด้วยกับการแก้ไขในครั้งนี้ เท่ากับว่า ไม่เห็นชอบกับการแก้ไข สส. ต้องกลับไปสภาและเชื่อว่าสภาฯจะยืนตามร่างของ สส.
“สิ่งที่จะตามมาคือ การตั้งกรรมาธิการร่วมฝ่าย สส. 10 คน ฝ่าย สว. 10 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 137 ถ้าตกลงกันไม่ได้ ไม่มีข้อสรุป ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นด้วยร่างพ.ร.บ.นี้จะถูกแขวน 6 เดือน หลังจากนั้น สภาอาจจะใช้อำนาจยืนตามร่างเดิมด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ และสามารถไปใช้ร่างของ สส.ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านวุฒิสภาอีกแล้ว ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะปัญหาคือ จะกระทบกับรัฐธรรมนูญของประชาชน ซึ่งไม่ทันกับการทำประชามติในการเลือกตั้งนายกอบจ.ทั่วประเทศในวันที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ 2568 และไม่ทันสภาชุดนี้แน่”นายนิกรกล่าวและขอเสนอความเห็นต่อที่ประชุมวุฒิสภาถึงไทม์ไลน์การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา จำนวน 20 คน เพื่อให้การจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนทันต่อการประชุมสมัยประชุมสภานี้ ดังนี้
- วันที่ 9 ตุลาคม 67 สภาพิจารณายืนตามร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับของ สส. และตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา ฝ่ายของ สส.จำนวน 10 คน
- วันที่ 15 ตุลาคม 2567 วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา ฝ่ายของ สว. 10 คน
- วันที่ 16 ตุลาคม – 23 ตุลาคม 2567 คณะกรรมาธิการร่วมสองสภาอาจจะพิจารณาร่วมกันเพื่อหาทางออก
- วันที่ 24 ตุลาคม 2567 คณะกรรมธิการการร่วมกันส่งให้ที่ประชุมทั้งสองสภา
- วันที่ 28 ตุลาคม 2567 วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบตามร่างพ.ร.บ.ประชามติของคณะกรรมาธิการร่วม
- วันที่ 30 ตุลาคม 2567 สภาฯพิจารณาให้ความเห็นชอบคณะกรรมาธิการร่วม
- วันที่ 31 ตุลาคมคม 2567 และดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 81
สำหรับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาตรา 7 ที่มีการแก้ไข ระบุว่า การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ให้ใช้ ‘เสียงข้างมาก’ ของ ‘ผู้มาออกเสียง’ โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำมตินั้น
การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติตามมาตรา 9 (1) หรือ (2) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมี ‘ผู้มาใช้สิทธิ’ ออกเสียงเป็นจำนวน ‘เกินกึ่งหนึ่ง’ ของ ‘ผู้มีสิทธิ’ ออกเสียง และมีจำนวนเสียง ‘เกินกึ่งหนึ่ง’ ของ ‘ผู้มาใช้สิทธิ’ ออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น
ทั้งนี้ เป็นการกลับไปเป็นเกณฑ์การหาข้อยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ที่ระบุว่า การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ‘ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง’ และ ‘มีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น’
ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ฉบับ สส. ระบุว่า การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ให้ใช้ ‘เสียงข้างมาก’ ของ ‘ผู้มาออกเสียง’ โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น