'ธปท.' เปิดรับฟังความเห็น 'ร่างประกาศ กคค.' กำหนดให้ ‘นิติบุคคล’ ที่ให้ 'สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์' กับ ‘นิติบุคคลอื่น’ ในทางการค้าปกติ เป็น ‘สถาบันการเงิน’ เปิดทางสมัครเข้าเป็นสมาชิก 'บริษัทข้อมูลเครดิต'
............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นฯ ร่างประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค.) เรื่อง กำหนดให้นิติบุคคลที่ประกอบกิจการให้สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์กับนิติบุคคลอื่นเป็นทางการค้าปกติ เป็นสถาบันการเงิน โดย ธปท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศ กคค. ฉบับนี้ไปจนถึงวันที่ 7 ต.ค.2567
สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศ กคค. ฉบับดังกล่าว กำหนดให้นิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ประกอบกิจการให้สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์กับนิติบุคคลอื่นเป็นทางการค้าปกติ ดังต่อไปนี้ เป็นสถาบันการเงิน ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 ได้แก่
1.การให้สินเชื่อจากใบแจ้งหนี้ หรือใบสั่งซื้อสินค้าเพื่อการชำระหนี้ในทางการค้า 2.การให้สินเชื่ออันเนื่องมาจากสัญญาโครงการระหว่างนิติบุคคลดังกล่าวกับนิติบุคคลขนาดใหญ่หรือหน่วยงานภาครัฐ และ3.การให้สินเชื่อที่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืนแก่นิติบุคคลอื่น
“โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้นิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ประกอบกิจการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางที่มีทุนหมุนเวียนหรือมีลูกหนี้การค้าที่ต้องการสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ เป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิต อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น สมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิต มีข้อมูลประกอบการพิจารณาในการให้สินเชื่อได้กว้างขวางขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสถาบันการเงินโดยรวม
คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2565 คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้นิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ประกอบกิจการให้สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์กับนิติบุคคลอื่นเป็นทางการค้าปกติ ดังต่อไปนี้ เป็นสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545
(1) การให้สินเชื่อจากใบแจ้งหนี้ หรือใบสั่งซื้อสินค้าเพื่อการชำระหนี้ในทางการค้า
(2) การให้สินเชื่ออันเนื่องมาจากสัญญาโครงการระหว่างนิติบุคคลดังกล่าวกับนิติบุคคลขนาดใหญ่หรือหน่วยงานภาครัฐ
(3) การให้สินเชื่อที่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืนแก่นิติบุคคลอื่น” ร่างประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เรื่อง กำหนดให้นิติบุคคลที่ประกอบกิจการให้สินเชื่อเชื่อเพื่อการพาณิชย์กับนิติบุคคลอื่นเป็นทางการค้าปกติ เป็นสถาบันการเงิน ที่ ธปท. เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 20 ก.ย.-7 ต.ค.2567 ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า ธปท.ให้เหตุผลในการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศ กคค. ฉบับใหม่ ว่า ด้วยมีนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ประกอบกิจการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย และธุรกิจขนาดกลางบางแห่งได้แสดงความประสงค์ที่จะสมัครเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิต
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนิติบุคคลที่ประกอบกิจการให้สินเชื่อลักษณะดังกล่าว ยังไม่เข้าข่ายเป็นสถาบันการเงินตามมาตรา 3 (9) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่กำหนดว่า นิติบุคคลอื่นที่ประกอบกิจการให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด จึงยังไม่สามารถสมัครเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตได้ ดังนั้น ธปท.จึงจัดทำร่างประกาศ กคค. ฉบับดังกล่าว
ธปท.ยังระบุถึงผลกระทบที่นิติบุคคลและผู้เกี่ยวข้องจากได้รับ ประกอบด้วย
1.นิติบุคคลที่ประกอบกิจการให้สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์กับนิติบุคคลอื่นเป็นทางการค้าปกติที่สมัครเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิต ผลกระทบเชิงบวก คือ มีข้อมูลเครดิตสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ หรือทบทวนวงเงิน หรือบริหารความเสี่ยงที่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน เพิ่มโอกาสในการปล่อยสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและมีคุณภาพมากขึ้น ลดโอกาสในการปล่อยสินเชื่อแล้วกลายเป็นหนี้เสีย
ส่วนผลกระทบเชิงลบ คือ มีต้นทุนในการพัฒนาระบบงาน และต้นทุนการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตเพิ่มเติมจากกฎหมายอื่นที่ต้องปฏิบัติตาม
2.สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิต ผลกระทบเชิงบวก คือ สมาชิกมีข้อมูลในการพิจารณาสินเชื่อที่ครบถ้วนยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาส การปล่อยสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และมีคุณภาพมากขึ้น ลดโอกาสในปล่อยสินเชื่อแล้วกลายเป็นหนี้เสีย ส่วนผลกระทบเชิงลบนั้น ไม่พบว่ามีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
3.บริษัทข้อมูลเครดิต ผลกระทบเชิงบวก คือ บริษัทข้อมูลเครดิตมีประเภทของสถาบันการเงินที่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้หลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณข้อมูลเครดิตที่อยู่ในฐานข้อมูลเครดิต และฐานข้อมูลสถิติครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ส่วนผลกระทบเชิงลบ คือ มีภารกิจในการตรวจสอบและดูแลสมาชิก และให้บริการดูแลเจ้าของข้อมูลที่อาจมีความหลากหลายมากขึ้น เพิ่มโอกาสที่จะได้รับเรื่องร้องเรียนการให้บริการมากขึ้น
4.เจ้าของข้อมูลที่ถูกนำส่งข้อมูลเครดิต ผลกระทบเชิงบวก คือ การมีประวัติข้อมูลเครดิตที่ดีจะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบกับสถาบันการเงินต่าง ๆ มากขึ้น และด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง สร้างวินัยทางการเงินให้แก่ลูกหนี้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จะได้รับการดูแลและคุ้มครองเพื่อให้ได้รับบริการสินเชื่อที่เป็นธรรมภายใต้กรอบกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต ขณะที่ผลกระทบเชิงลบ คือ เจ้าของข้อมูลที่ไม่รักษาวินัยทางการเงินอาจะจะมีประวัติข้อมูลเครดิต ค้างชำระ
5.หน่วยงานภาครัฐ ผลกระทบเชิงบวก คือ มีข้อมูลด้านสินเชื่อที่ประกอบการจัดทำนโยบายและมาตรการภาครัฐต่าง ๆ ที่ครบถ้วนและครอบคลุมประเภทสินเชื่อมากยิ่งขึ้น ทำให้การกำหนดนโยบายเฉพาะกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนผลกระทบเชิงลบนั้น ไม่พบว่ามีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ