สธ.สรุปผลงานปี 67 'สมศักดิ์'ปลื้ม ความสำเร็จ 30 บาทรักษาทุกที่ ประกาศเดินหน้า ต่อสร้างเศรษฐกิจสุขภาพ พร้อมประกาศ 7 นโยบายปี 68 เล็งใช้มาตรการลดภาษีลดป่วยโรคเรื้อรัง-ไม่ติดต่อ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวรายงานผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2567 ว่า เรื่องของกฎหมายหลักๆ มี 3 ฉบับ คือ
-
ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ.กสธ.) ซึ่งจะช่วยให้ สธ.สามารถบริหารจัดการงานด้านบุคลากรได้ด้วยตนเอง โดยคณะกรรมการที่มีความรู้และความเข้าใจบริบทการปฏิบัติงานของ สธ. ทำให้การบริหารงานทรัพยากรบุคคลมีความคล่องตัว ปรับปรุงค่าตอบแทนได้อย่างเหมาะสม พัฒนาสายอาชีพที่เฉพาะเจาะจง เกิดระบบบริการที่มีคุณภาพและรวดเร็วขึ้น สามารถกระจายบุคลากรไปยังพื้นที่ห่างไกลเพื่อดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง
-
ร่าง พ.ร.บ.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ.อสม.) จะช่วยสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่ อสม. กำหนดค่าป่วยการเดือนละ 2,000 บาท พร้อมสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ซึ่งทั้ง 2 ร่างผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป แ
-
ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่จะตั้งกองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ เพื่อหางบประมาณสนับสนุนงานด้านสุขภาพจิตทุกมิติ และปรับนิยามให้ครอบคลุมผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชในไทยมากกว่าร้อยละ 70 มีปัญหาเรื่องของการใช้สารเสพติดร่วมด้วย
“การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติดนั้น ได้ปรับภารกิจการบำบัดยาเสพติดจากกรมการแพทย์ไปยังกรมสุขภาพจิต เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ซึ่งการควบรวมภารกิจยาเสพติดและจิตเวช จะช่วยยกระดับหน่วยบริการให้สามารถบริการได้อย่างครอบคลุมทั้งทางกายและจิต มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ครบวงจร ลดเวลาและค่าใช้จ่าย การผลักดันชุดสิทธิประโยชน์เป็นไปแบบไม่แยกส่วน” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อีกเรื่องสำคัญคือ การปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า และมีอันตรายอย่างมากจากนิโคตินที่เข้าสู่สมองภายใน 7 วินาที ส่งผลต่อความจำ สติปัญญา และพฤติกรรม เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดต่างๆ ทั่วร่างกาย นำไปสู่โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่นๆ ที่ผ่านมา มีข้อสั่งการผ่านมติคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เพื่อกระตุ้นทุกหน่วยงานร่วมกันปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า โครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพ (โครงการ 9 หมอ) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 9 สาขา กระจายไปสู่ภูมิภาค ระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปีการศึกษา 2568-2577 รวม 62,000 คน ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 วงเงิน 3,723 ล้านบาท
@ มอบ 7 นโยบาย ปีงบ 68 เล็งใช้มาตรการลดภาษีลดป่วย
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการขับเคลื่อนนโยบาย ปีงบประมาณ 2568 จะมุ่งสร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้แก่ประชาชนทุกระดับ และยกระดับระบบสุขภาพคนไทยทุกมิติ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้นซึ่งนอกจากพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์แล้ว จะดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมใน 7 ประเด็นสำคัญ
-
ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ เน้นเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยบริการทุกระดับทั่วประเทศ ภายใต้ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของข้อมูลสุขภาพ, พัฒนาระบบบริการด้วยเทเลเมดิซีน, AI และการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์, ขยายเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิดิจิทัล และพัฒนาโรงพยาบาลรัฐ ให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก ปลอดภัย ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
-
เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติด โดยพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งระบบบริการให้คำปรึกษาโดย “นักจิตบำบัด” ให้มีมาตรฐาน, ยกระดับ “มินิธัญญารักษ์” และ “ทีมชุมชนล้อมรักษ์” รองรับระบบบำบัด รักษา ฟื้นฟู ที่มีแบบแผนเฉพาะบุคคล และให้ชุมชนมีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยหลังบำบัด และตั้งกรมสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติด ปรับปรุงโครงสร้างระดับพื้นที่
-
คนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ โดยส่งเสริมสุขภาพทุกมิติเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่สำคัญ ก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ, ผลักดันแนวคิดเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาพองค์รวมสู่การปฏิบัติ, ปรับปรุงกฎหมายและมาตรการให้เอื้อต่อการควบคุม ดูแลส่งเสริมสุขภาพ เช่น พ.ร.บ. NCDs การป้องกันผู้สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่, สนับสนุนแนวคิดสุขภาพดี สิทธิประโยชน์เพิ่ม, สานต่อนโยบายมะเร็งครบวงจร ขยายความครอบคลุมการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV) คัดกรองป้องกันมะเร็ง และผลักดันแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว
-
4.สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน โดยเฉพาะ อสม. พัฒนากฎหมายสนับสนุน เช่น พ.ร.บ.อสม. เพิ่มศักยภาพ อสม. เพื่อส่งเสริมงานสุขภาพเชิงรุกในชุมชน และส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม
-
จัดระบบบริการสุขภาพเพื่อกลุ่มเปราะบางและพื้นที่พิเศษ โดยยกระดับสถานชีวาภิบาลและกุฏิชีวาภิบาล, เพิ่มศักยภาพระบบบริการสุขภาพและหน่วยบริการพื้นที่ชายแดน และส่งเสริมการผลิตและจ้างงานผู้ดูแลผู้ป่วย (Caregiver) ในชุมชน เพื่อเพิ่มการดูแลสุขภาพกลุ่มเปราะบางในระดับพื้นที่
-
เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพสู่ Medical and Wellness Hub โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความปลอดภัยทุกมิติ, ยกระดับภูมิปัญญาไทย ส่งเสริมการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยเพื่อการแพทย์ในระบบบริการ, เพิ่มโอกาสการเติบโตของธุรกิจผ่านการปรับปรุงกฎระเบียบ ลดขั้นตอนอนุมัติ/อนุญาต และส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์
-
บริหารจัดการทรัพยากรสาธารณสุข โดยเพิ่มการผลิตแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข สร้างความมั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตและขวัญกำลังใจ พร้อมผลักดัน พ.ร.บ.กสธ., พัฒนากฎหมายระบบสนับสนุนการบริหารจัดการโรงพยาบาลและการจัดซื้อจัดจ้าง, บริหารจัดการงบประมาณและกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนาการสาธารณสุขกับภาคส่วนอื่น สานต่อนโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาล เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ และพัฒนาโรงพยาบาลสีเขียว ปรับปรุงให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของบุคลากรทุกคน เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงของสุขภาพคนไทย สร้างระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งของประเทศ ซึ่งผมมั่นใจในศักยภาพของทุกคนที่จะร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจภายใต้เป้าหมาย ยกระดับการสาธารณสุขไทย สุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง และพร้อมจะร่วมแก้ปัญหาและสนับสนุนการดำเนินงานของทุกคน ทุกหน่วยงาน อย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุด และพลิกโฉมการสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขไทยต่อไปอย่างยั่งยืน” นายสมศักดิ์ กล่าว
ด้านนายเดชอิศม์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมอนามัย ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ โดยจะพัฒนาศักยภาพการบริการและผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์แผนไทย อาหารไทย สมุนไพรไทย การรักษาพยาบาล รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจะดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ คือ วัตถุดิบ ไปจนถึงปลายน้ำ คือ การผลิตและส่งออก ซึ่งตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566 – 2570 ได้ตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้ได้มากกว่า 1.04 แสนล้านบาท ภายในปี 2570
“นอกจากนี้ จะร่วมผลักดันการดูแลสุขภาพองค์รวม ที่ให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดีในทุกมิติ โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพ เน้นการนำภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วม และส่งเสริมการผลิตและจ้างงานผู้ดูแลสุขภาพในชุมชน หรือ Caregiver เพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพในระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนแข็งแรงตามวัย ลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคที่สามารถป้องกันได้ รวมทั้งจะให้การสนับสนุนทุกหน่วยงานในกำกับดูแล เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานสำคัญตามนโยบายและนำพาระบบสาธารณสุขของประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายเดชอิศม์ กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ โครงการ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว มีการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยค้นหาประวัติการรักษาในหน่วยบริการ 9,192 แห่ง ลดระยะเวลาบริการจาก 127 นาทีเหลือ 56 นาทีต่อครั้ง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยลดลง 160 บาทต่อครั้ง
ทั้งนี้ The Economist ยกย่องระบบสาธารณสุขไทยให้เป็นต้นแบบของโลก สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำเร็จ แม้เป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยคนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด 77.3 ปี สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ ความครอบคลุมสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าร้อยละ 99.6 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว OECD อยู่ที่ร้อยละ 98 ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพร้อยละ 3.8 ของ GDP ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มประเทศ OECD ร้อยละ 12.5 และมีการบูรณการข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งได้รับรางวัลเลิศรัฐระดับดีเด่น ปี 2567 ประเภทบูรณาการข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล