ประธานศาลฎีกา แถลงผลการดำเนินงานตามนโยบาย 'ที่พึ่ง เที่ยงธรรม เท่าเทียม ทันโลก 'ประจำปีงบประมาณ 2567 เผยมีคดีเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง 61,556 คดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกาคนที่ 49 แถลงผลการดำเนินงานตามนโยบายประธานศาลฎีกา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2567 ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ภายใต้นโยบาย “ที่พึ่ง เที่ยงธรรม เท่าเทียม ทันโลก” ดังนี้
นโยบายข้อ 1 “ที่พึ่ง” ส่งเสริมการระงับข้อพิพาททางเลือก ได้แก่ การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง มีคดีที่เข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง จำนวน 61,556 คดี ทุนทรัพย์ 7,258,268,720 บาท (ข้อมูลสถิติคดีฯ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 สิงหาคม 2567) การใช้อนุญาโตตุลาการในศาล โดยกำหนดศาลที่มีความพร้อม 5 ศาล ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ และศาลแขวงสมุทรปราการ และจัดทำคู่มือเพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลดำเนินการในศาลอื่นๆ ต่อไป
นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น ได้จัดให้มี ศาลนอกเวลาเพื่อประชาชน สำหรับกลุ่มศาลแพ่งในกรุงเทพมหานครและศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง รวม 7 ศาล ดังนั้นประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับปัญหาการจราจรและการลางาน
นโยบายข้อ 2 “เที่ยงธรรม” ออกคำแนะนำของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาของศาลชั้นต้น พ.ศ. 2567 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาที่มีอัตราโทษสูงหรือคดีอาญาสำคัญอย่างรอบคอบ และคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2567 มุ่งให้ผู้เสพฯ ได้รับการบำบัด ฟื้นฟู อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ
ทั้งยังมีการจัดตั้งแผนกคดียาเสพติดในศาลฎีกา แผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา แผนกคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งในศาลแพ่ง และศาลแพ่งมีนบุรีและศาลอาญามีนบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เพื่ออำนวยความยุติธรรมและบริหารจัดการคดีประเภทต่างๆ ดังกล่าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของการดูแลสมดุลในการทำงานของบุคลากรได้แก้ไขกำหนดระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลต่างๆ ในการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่บุคลากร ตลอดจนเปิดคลินิกหน่วยแพทย์สาขาย่อย 3 แห่งในกรุงเทพมหานคร
นโยบายข้อ 3 “เท่าเทียม” เสนอร่างกฎหมายกำหนดตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวภาค ซึ่งเป็นผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญและปฏิบัติงานด้านคดีเยาวชนและครอบครัว เป็นการเฉพาะ พร้อมทั้งออกคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว พ.ศ. 2567 ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้ได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงออกระเบียบการจัดทำบัญชีรายชื่อและการแต่งตั้งทนายความ เพื่อให้ศาลสามารถแต่งตั้งทนายความที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ที่เหมาะสมกับประเภทคดี ให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่ไม่อาจจัดหาทนายความเองได้
นโยบายข้อ 4 “ทันโลก” พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ของศาลยุติธรรม เพื่อเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างศาลยุติธรรมกับประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่ พัฒนาระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ระยะที่ 4 (e-Filing Version 4) ระบบการยื่นคำร้องคดีคุ้มครองสวัสดิภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น พร้อมทั้งทำการศึกษาเพื่อเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเพิ่มหลักการสำคัญเกี่ยวกับพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ยังมีการออกระเบียบเพื่อจัดให้มีการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในทันทีที่คดีเสร็จการพิจารณา และเผยแพร่คำพิพากษาของศาลฎีกาแก่ข้าราชการตุลาการในรูปแบบ E-book ตลอดจนสนับสนุนให้บุคลากรในศาลยุติธรรมได้รับการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ผ่านการอบรมศึกษาดูงานจากสถาบันการศึกษาทั้งภายในและภายนอกประเทศ