‘สุริยะ’ แบ่งงานกระทรวงคมนาคมใหม่ ดึงงาน รฟท.ดูเอง เกลี่ยหน่วยงานอากาศ ‘กรมท่าฯ-บวท.’ ให้ ‘มนพร’ โยก ขสมก.ให้ ‘สุรพงษ์’ กำกับ เผยการเสนอแต่งตั้งระดับบริหาร-โครงการเข้าครม.ต้องผ่านรมว.ก่อน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 16 กันยายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงนามในคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 1047/2567 เรื่อง มอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
สาระสำคัญคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 และมาตรา 38 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มอบอำนาจในการสั่งการ อนุญาต ปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะพึงปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมปฏิบัติราชการแทนดังนี้
1.นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการฯ สำหรับงานของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ดังนี้ กรมเจ้าท่า (จท.), กรมท่าอากาศยาน (ทย.), การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.), สถาบันการบินพบเรือน, บจ.วิทยุการบินแห่งประเทศไทย และ บจ.โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
2.นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการฯ สำหรับงานของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ดังนี้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.), กรมการขนส่งทางราง (ขร.), บจ.ขนส่ง (บขส.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), บจ.รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. และ บจ.เอสอาร์ที แอสเสท
@แผนงานเสนอครม.-เสนอแต่งตั้งต้องผ่าน รมว.คมนาคม
นอกจากนี้ การปฏิบัติราชการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในกรณีต่อไปนี้ให้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาวินิจฉัยสั่งการโดยตรง ได้แก่
1.เรื่องที่มีลักษณะเป็นนโยบาย และการบริหารงานบุคคล
2.เรื่องที่ต้องเสนอนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี
3.การแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือกรรมการของรัฐวิสาหกิจ และบริษัทในสังกัดกระทรวงคมนาคม
และในกรณีต่อไปนี้ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการหรือหน่วยงานเจ้าของเรื่อง แล้วแต่กรณีเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาวินิจฉัยสั่งการโดยตรง ประกอบด้วย
1.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม
2.การดำเนินโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท
3.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
4.การดำเนินที่เกี่ยวกับการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพฯ เพื่อรองรับนโยบายค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแบ่งครั้งนี้ นายสุริยะได้ดึงเอาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มากำกับดูแลเอง โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากรัฐบาลจะทำการผลักดันรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย และรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ที่ยังอยู่ในแผนงาน โดยให้นายสุรพงษ์กำกับดูแล ขสมก. เพิ่มอีก 1 หน่วยงาน ขณะเดียวกัน ก็มอบหมายให้นางมนพรควบคุมหน่วยงานการบินคือ กรมท่าอากาศยานและ บจ.วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จากที่เดิมนายสุริยะกำกับดูแลทั้ง 2 หน่วยงานเองทั้งหมด
ทั้งนี้ จะทำให้นายสุริยะมีหน่วยงานที่ต้องกำกับดูดังนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)