‘ธีระชัย’ ทำจดหมายเปิดผนึกถึง ‘นายกฯ-รมว.คลัง’ คัดค้านขายหน่วยลงทุนกองทุน ‘วายุภักษ์’ ให้ ‘ประชาชน-สถาบัน’ ชี้อาจฝ่าฝืนกฎหมาย-ทำ 'ก.คลัง-นักลงทุนภาครัฐ' เสียหาย
..........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เรื่องกองทุนวายุภักษ์ 1 โดยระบุว่า การที่กระทรวงการคลังเตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไปและนักลงทุนสถาบันจองซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 หน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ในวันที่ 16-20 ก.ย.2567 นั้น อาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมีเหตุผล คือ
1.เนื่องจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) เป็นผู้ที่ลงทุนอยู่เดิมในปัจจุบันแล้ว การเข้าร่วมในโครงการนี้จึงเข้าลักษณะ “มัดมือชก” เป็นภาคบังคับโดยปริยาย (Fait accompli) มิใช่การตัดสินใจเข้าไปร่วมลงทุนใหม่โดยพิจารณาอย่างถ่องแท้ และเป็นการตัดสินใจในเชิงธุรกิจที่จะยอมรับความเสียเปรียบให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.(นักลงทุนทั่วไป)
2.กองทุนฯ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) 353,596 ล้านบาท และเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ดังนั้น กติกาตามหนังสือชี้ชวนครั้งนี้ จึงเข้าข่ายเป็นการถ่ายเทผลประโยชน์ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ไปให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ในอนาคต
“ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ซึ่งเป็นผู้ถือหน่วยอยู่ในขณะนี้ เสียเปรียบและอาจได้รับความเสียหาย ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงต้องสอบถามความยินยอมจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ทุกรายอย่างเป็นทางการเสียก่อน
และในกรณีนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ากระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหน่วยลงทุน จะต้องปฏิเสธไม่รับเงื่อนไขนี้ เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจหรือหน้าที่จะไปจุนเจือและรับประกันทั้งผลประโยชน์และการค้ำประกันเงินต้นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป)
และเนื่องจากเงินที่กองทุนฯจะได้รับจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง จะไม่เหมือนการรับเงินจากการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำเงินไปพัฒนาประเทศ ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังจะเข้าไปรับเงื่อนไขตามหนังสือชี้ชวนดังกล่าว จึงเข้าหลัก “เนื้อไม่ได้กิน-หนังไม่ได้รองที่นั่ง-แต่กระดูกแขวนคอ”
เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลให้การบริหารทรัพย์สินของรัฐมีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้าพเจ้าจึงทำหนังสือฉบับนี้ให้ปรากฏ เพื่อเป็นหลักฐานต่อไป
และขอแนะนำให้ท่านสั่งการให้ทบทวนความถูกต้องเหมาะสมของโครงการนี้ และควรตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนฯ ที่เสนอให้ดำเนินการสิ่งที่อาจผิดกฎหมาย และไม่ปกป้องผลประโยชน์ของกระทรวงการคลัง
อนึ่ง กรณีที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ที่ลงมติรับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอนั้น ไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอให้ชัดเจนว่า เงื่อนไขที่จะกำหนดในหนังสือชี้ชวนจะมีผลเป็นการถ่ายเทผลประโยชน์จากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ในปัจจุบันไปให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) อันจะมีผลทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) เสียเปรียบและอาจได้รับความเสียหาย
ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็นการเสนอข้อมูลต่อคณะรัฐมนตรีที่ไม่โปร่งใสครบถ้วน
นอกจากนี้ ประโยชน์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ว่า
1.เพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้กับประชาชนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ใน ระดับต่ำ รวมถึงเป็นการพัฒนาตลาดทุนของประเทศเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
2.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนภายในประเทศมีส่วนร่วมในการลงทุนใน ตลท. ผ่านการลงทุนในกองทุนฯ ที่มีกลไกในการคุ้มครองผลตอบแทนซึ่งจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการลงทุน โดยมีมูลค่าการระดมทุนประมาณ 100,000-150,000 ล้านบาท อาจส่งผลให้ SET Index ปรับตัวขึ้นซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อการลงทุนใน ตลท.
ทั้งนี้ การปรับตัวของ SET Index ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนผลประกอบการที่เติบโตขึ้นของบริษัทจดทะเบียน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงมาตรการอื่นใดที่เรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ข้าพเจ้าขอเรียนว่า ประโยชน์ดังกล่าวจะมีความเหมาะสมก็ต่อเมื่อมีกลุ่มนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง ที่เข้ามาร่วมลงทุนใหม่ และพร้อมสมัครใจเชิงการกุศล ยอมที่จะเสียเปรียบนักลงทุนทั่วไป ทั้งในด้านรายได้ประจำปีและการคุ้มครองเงินต้น แต่ขอยืนยันว่ากระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐไม่มีอำนาจหรือหน้าที่จะดำเนินการในบทบาทดังกล่าว
อีกประการหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ควรไปเน้นเร่งทำงานด้านที่พยายามจะโปรโมท “อาจส่งผลให้ SET Index ปรับตัวขึ้น” ท่านควรหันไปเน้นงานอื่นๆ ดีกว่าเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศชาติให้ยั่งยืน การกระจายรายได้และความมั่งคั่ง ตลอดจนปรับปรุงเคร่งครัดในเรื่องธรรมาภิบาลตลาดทุน ซึ่งจะเกิดผลดีต่อตลาดหลักทรัพย์เอง แทนที่จะไปคิดโครงการที่ถูกวิจารณ์ได้ว่าเป็นการมองเพื่อมุ่งประโยชน์ของกลุ่มประชาชนฐานะดีเป็นสำคัญ
จึงขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่” จดหมายเปิดผนึกของนายธีระชัย ระบุ