‘ศาลอาญา’ พิพากษาจำคุก ‘จำเลย’ คดีแชร์ลูกโซ่ ‘เห็ดล้านก้อนไถ่ถอนชีวิตโคฯ’ 352 ปี ปรับอีก 35.2 ล้านบาท นำเงินคืนผู้เสียหาย
.....................................
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่เอกสารข่าว โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยสำนักคดีอาญาพิเศษ (ปัจจุบันคือกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ) ได้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 40/2559 กรณี มีบุคคลกล่าวหาบริษัท ไอ.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยนายดิษฐานนท์ เตชานนทกฤต และนายดิษฐานนท์ เตชานนทกฤต ในฐานะส่วนตัว ว่ากระทำความผิดโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวง
โดยประกาศโฆษณาต่อประชาชนทั่วไปว่าดำเนินการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเกษตรกรไทยสู่สากล (กทพส.)” เพื่อดำเนินโครงการ “เห็ดล้านก้อนไถ่ถอนชีวิตโค-กระบือ” โดยสอบสวนเสร็จสิ้นและมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ไปยังสำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณา และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองต่อศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ 263/2565 นั้น
บัดนี้ ศาลอาญามีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ 234/2567 พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง และกระทำต่างกรรม ต่างวาระ จำนวน 88 กระทง ให้ลงโทษปรับบริษัท ไอ.ซี อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด จำเลยที่ 1 รวมทั้งหมด 52,800,000 บาท และให้จำคุกนายดิษฐานนท์ จำเลยที่ 2 รวมทุกกระทง 528 ปี
ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสาม คงปรับจำเลยที่ 1 รวมเป็นเงิน 35,200,000 บาท และให้จำคุกนายดิษฐานนท์ จำเลยที่ 2 รวมทุกกระทง 352 ปี ความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนมีอัตราโทษสูงจำคุกไม่เกินสิบปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายพร้อมอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายแต่ละราย
กรณีดังกล่าว มีพฤติการณ์โดยย่อคือ กลุ่มผู้ต้องหาร่วมกันหลอกลวง โดยประกาศโฆษณาต่อประชาชนทั่วไปว่าดำเนินการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเกษตรกรไทยสู่สากล (กทพส.)” เพื่อดำเนินโครงการ “เห็ดล้านก้อนไถ่ถอนชีวิตโค – กระบือ” ได้รับเปิดสมัครสมาชิกทั่วไปเข้าร่วมโครงการ โดยสมาชิกจะต้องไปรวมกลุ่มกันให้ได้กลุ่มละ 20 คน สมาชิกที่เข้าร่วมจะต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมในการทำแฟ้ม จัดเตรียมข้อมูลฝึกอบรมและกิจกรรมอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น จำนวน 350 บาท และจ่ายเงินออมสัจจะอีกเดือนละ 100 บาท รวม 1,550 บาทต่อปี
เมื่อครบ 1 ปี จึงจะมีสิทธิเบิกเงินออมสัจจะคืนได้โดยมีผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับคือก้อนเชื้อเห็ดคนละ 2,000 ก้อน และโรงเรือนเพาะเห็ดคนละ 1 โรง รวมผลประโยชน์ที่จะได้รับรวมมูลค่า 30,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 1,935.48 ต่อปี ของจำนวนเงินที่นำมาลงทุนรวมทั้งเมื่อมีสมาชิกมาสมัครมากขึ้น ก็มีการนำเสนอโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเห็ดล้านก้อนฯ เพื่อชักชวนผู้เสียหายร่วมลงทุน โดยเสนอผลตอบแทนสูง โดยไม่มีเจตนาดำเนินโครงการจริง โดยมีผู้ได้รับความเสียหายจำนวน 88 คน รวมมูลค่าความเสียหายจำนวน 7,012,150 บาท
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษขอแจ้งเตือนไปยังกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์จัดตั้ง “แชร์ลูกโซ่”ว่า เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกสูงและถูกจำคุกตามจำนวนที่กระทำผิดต่อผู้เสียหายเรียงกระทงความผิด ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ และอาจถูกสำนักงานป.ป.ง.ยึดทรัพย์เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ทั้งนี้ กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กำลังพัฒนาระบบเฝ้าระวังการกระทำความผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่บนระบบอินเตอร์เน็ตด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อป้องปรามการกระทำความผิดดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น