ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องกกต.ล้มล้างการปกครอง กรณีออกประกาศแก้คุณสมบัติผู้สมัครสว. เหตุไม่ปรากฎข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ กรณีนายพลภาขุน เศรษฐญาบดี (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งแปด (ผู้ถูกร้อง) ได้แก่ 1.นายอิทธิพร บุญประคอง 2.ศาสตราจารย์สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ 3.นายปกรณ์ มหรรณพ 4.นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ 5.นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ 6.นายชาย นครชัย 7.นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ 8.นายแสวง บุญมี ร่วมกันใช้อำนาจตามกฎหมายดำเนินการให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะมีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในการแบ่งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงความรู้ความเชี่ยวขาญและประสบการณ์ในแต่ละกลุ่มอาชีพของตนเอง
การออกประกาศดังกล่าว มีลักษณะเป็นการเปิดช่องให้กลุ่มอาชีพเปราะบาง สามารถเข้าสู่กระบวนการเลือกได้เทียบเท่ากับผู้มีวิชาชีพความชำนาญชั้นสูง เป็นการเปิดโอกาสให้มีการสมยอมกัน เนื่องจากไม่มีกระบวนการคัดกรองกลุ่มอาชีพเปราะบางที่วางแผนรับจ้างมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาและการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครที่มีเพียงผู้สมัครยืนยันและมีพยานรับรองเท่านั้น ส่งผลให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งแปดที่ไม่ใช้อำนาจระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลงเหตุอันมีสภาพร้ายแรงในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่เจตนาเปิดช่องให้มีการทุจริตปล่อยให้ผู้ไม่มีคุณสมบัติที่แท้จริงและกลุ่มอาชีพเปราะบางเข้าสู่กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรรมนูญและกฎหมาย โดยเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบ ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ และยังห่างไกลเกินกว่าเหตุที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งแปดกระทำการใด ๆ อันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย