‘ผอ.ศปอส.ตร.’ แจ้งแนวทาง-วิธีปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ศูนย์ AOC-พนักงานสอบสวน‘สถานีตำรวจ’ ประสานงาน ‘สถาบันการเงิน’ ในการดำเนินการคดี ‘อาชญากรรมทางเทคโนโลยี’
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศปอส.ตร.) ได้ทำหนังสือบันทึกข้อความแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องให้รับทราบถึงแนวทางและวิธีการปฏิบัติในการแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจรับทราบถึงการร้องทุกข์และการขอข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
สำหรับแนวทางและวิธีการปฏิบัติฯในเรื่องดังกล่าว ได้กำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติของพนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน ในการแจ้งการร้องทุกข์ต่อสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ และการขอข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สรุปได้ดังนี้
ตามคำสั่ง ตร.ที่ 365/2567 ลง 18 ก.ค.67 กำหนดให้พนักงานสอบสวนที่ไปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ AOC มีหน้าที่และอำนาจในการแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับการทำธุรกรรมไว้ ทราบถึงการร้องทุกข์ ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566
ดังนั้น พนักงานสอบสวนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ AOC จึงมีหน้าที่ในการแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับการทำธุรกรรมไว้ทราบถึงการร้องทุกข์ในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งผู้เสียหายมีการแจ้งความร้องทุกข์และลงข้อมูลในระบบรับแจ้งความออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งความร้องทุกข์ผ่านศูนย์ AOC การรับแจ้งความร้องทุกข์ผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ (Online) หรือการรับแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน (Walk in)
โดยพนักงานสอบสวนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ AOC ให้ดำเนินการ ดังนี้
1.แจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับการทำธุรกรรมไว้ ทราบถึงการร้องทุกข์ในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทีมีในระบบรับแจ้งความออนไลน์ (เฉพาะเลขคำแจ้งความออนไลน์ (Case ID) ที่มีเลขอ้างอิงจากธนาคาร (Bank ID) เพื่อสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ จะได้ระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ชั่วคราวต่อไปอีก 7 วัน พร้อมขอข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนั้น
โดยออกหมาย H (ข้อมูลที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับการทำธุรกรรมไว้ทราบถึงการร้องทุกข์ ตามความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ) ไปยังสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ ผ่านระบบประสานงานธนาคาร (banking.ccib.go.th) ในวันถัดจากวันที่รับแจ้งความร้องทุกข์
2.เมื่อได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจากการออกหมาย H แล้ว (สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจจะนำส่งให้ภายใน 4 วันนับแต่วันที่ได้รับหมาย H) ให้รีบส่งต่อข้อมูลดังกล่าวไปยังพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ (www.thaipoliceonline.go.th) ตามเลขคำแจ้งความออนไลน์ (Case ID) เพื่อให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ส่วนพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเลขคำแจ้งความออนไลน์ (Case ID) ของสถานีตำรวจในสังกัด บช.น. ภ.1- 9 หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนในสังกัด บช.สอท. และ บช.ก. ให้ดำเนินการ ดังนี้
1.เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามเลขคำแจ้งความออนไลน์ (Case ID) แล้ว ให้ตรวจดูข้อมูลการแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจทราบถึงการร้องทุกข์ ในระบบรับแจ้งความออนไลน์ (www.thaipoliceonline.go.th) ว่าเลขคำแจ้งความออนไลน์ (Case ID) ที่อยู่ในความรับผิดชอบ มีการออกหมาย H
โดยพนักงานสอบสวนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ AOC ครบถ้วน ถูกต้องทุกเลขอ้างอิงจากธนาคาร (Bank ID) แล้วหรือไม่ (พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสามารถตรวจดูสถานะหมาย H ที่พนักงานสอบสวนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ ACC ดำเนินการไปแล้ว ได้ที่ระบบรับแจ้งความออนไลน์ (www.thaipoliceonline.go.th))
(1) หากพบข้อมูลในระบบว่า เลขอ้างอิงจากธนาคาร (Bank ID) ใด มีการออกหมาย H โดยพนักงานสอบสวนที่ไปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ AOC แล้ว พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไม่ต้องดำเนินการออกหมาย H ซ้ำอีก
(2) หากพบข้อมูลในระบบว่า เลขอ้างอิงจากธนาคาร (Bank ID) ใด ยังไม่มีการออกหมาย H ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีหน้าที่ออกหมาย H แจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับการทำธุรกรรมไว้ทราบถึงการร้องทุกข์ เพื่อสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจจะได้ระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ชั่วคราวต่อไปอีก 7 วัน พร้อมขอข้อมูลเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องในคดีผ่านระบบประสานงานธนาคาร (banking.ccib.go.th)
2.เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ให้ติดต่อนัดหมายผู้แจ้งมาพบเพื่อบันทึกปากคำ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีการออกหมาย H และดำเนินการตาม คำสั่ง ตร.ที่ 182/2566 ลง 17 มี.ค.66 เรื่อง การรับแจ้งความร้องทุกข์ การบริหารคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ รวมถึงคำสั่งและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
3.ตรวจดูข้อมูลเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องในคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบในระบบรับแจ้งความออนไลน์ (www.thaipoliceonline.co.th) ตามเลขคำแจ้งความออนไลน์ (Case ID) นั้น (พนักงานสอบสวนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ AOC จะส่งข้อมูลเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องในคดีที่ได้รับจากสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ มาให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ (www.thaipoliceonline. go.th) ภายใน 4 วันนับแต่วันที่มีการออกหมาย H)
หากพบข้อมูลในระบบว่า ยังไม่มีการส่งข้อมูลเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องในคดีตามเลขคำแจ้งความออนไลน์ (Case ID) นั้น มาให้ภายใน 4 วันนับแต่วันที่มีการออกหมาย H ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเร่งรัดติดตามข้อมูลเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องในคดี โดยให้ออกหมาย H ผ่านระบบประสานงานธนาคาร (banking.coib.go.th) อีกครั้งหนึ่ง หรือจะมีหนังสือเร่งรัดติดตามข้อมูลเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องในคดี ไปยังสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจโดยตรงอีกส่วนหนึ่งก็ได้
4.เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้รับข้อมูลเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องในคดีแล้ว ให้พิจารณาข้อมูลของบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางการเงินทุกทอดว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ให้มีคำสั่งอายัดบัญชีนั้นไปยังสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ ผ่านระบบประสานงานธนาคาร (bankine.colb.go.th) ภายใน 7 วับแต่วันที่มีการออกหมาย H (หมายอายัดเฉพาะยอดเงิน (หมาย Q) หมายอายัดทั้งบัญชี (หมาย R))
ทั้งนี้ หากเกิน 7 วัน ก็ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีคำสั่งอายัดบัญชีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไปยังสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจด้วย (การอายัดบัญชีที่เกินกว่า 7 วันดังกล่าว อาจจะทำให้การระงับธุรกรรมชั่วคราวนั้นไว้แต่แรกเกิดความไม่ต่อเนื่องและเกิดความเสียหายได้)