'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' ชี้รบ.ส่อทำผิดกม.เหตุเสนองบปี 68 มาแล้ว ขอแก้งบปี 67 ไม่ได้-แนะ 2 ทางออกงบเงินดิจิทัล-ใช้งบกลาง 4.3 แสนล.-โอนเงินให้กลุ่มเปราะบางก่อน 30 ก.ย. เพื่อให้เงิน 1.22 แสนล. ถูกกฎหมาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท วาระ 2
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวอภิปรายว่า เสนอขอปรับลดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 จำนวนทั้งสิ้น 100% เนื่องจากสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นั้นส่อขัดกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 มาตรา 21 และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 43 โดยพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 มาตรา 21 กำหนดไว้ว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็น ที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้
ความหมาย คือ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ในปีหน้าถ้าเสนอเข้ามาแล้ว หมายถึงว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 ไม่สามารถที่จะเสนอเพิ่มเติมเข้ามาได้ เนื่องจากว่ารัฐบาลได้เสนองบประมาณรายจ่ายปี 2568 ต่อรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายฐากร กล่าวว่า อีกทั้งในคำของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 และงบประมาณปี 2568 รายการที่เสนอขอเข้ามาเป็นรายการเดียวกัน คือ ดิจิทัลวอลเล็ต เพราะการเสนอขอตั้งงบปี 2568 โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตตั้งไว้ 152,700 ล้านบาทเท่านั้น ไม่สามารถตั้งให้ครอบคลุมงบประมาณทั้งหมด 450,000 ล้านบาท จึงเลี่ยงโดยขอย้อนกลับไปตั้งงบรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 มาอีก 122,000 ล้านบาท การกระทำดังกล่าวนี้ส่อว่าจะขัดกฎหมาย
นายฐากร กล่าวว่า การเสนองบฯเพิ่มเติมปี 2567ยังส่อขัดพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 43 ที่ว่า การขอเบิกเงินจากคลังตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณใด ให้กระทำได้แต่เฉพาะภายในปีงบประมาณนั้น ก็คือปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลต้องเบิกเงินให้ทันภายในวันที่ 30 ก.ย. 2567 จะมีข้อยกเว้นในวรรคที่ 2 กรณีที่ไม่สามารถเบิกเงินจากคลังได้ภายในปีงบประมาณให้ขยายเวลาขอเบิกเงินจากคลังได้ เฉพาะในกรณีที่หน่วยรับงบประมาณได้ก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ และได้มีการกันเงินไว้ตามระเบียบเกี่ยวกับการเบิกเงินจากคลังไปเรียบร้อยแล้ว สรุปคือจะกระทำได้ต้องมี 2 เงื่อนไข คือ 1.หน่วยรับงบประมาณได้ก่อหนี้ผูกพันไว้แล้ว 2.ได้รับการกันเงินจากคลังแล้ว
"ตามไทม์ไลน์ของดิจิทัลวอลเล็ตในกรอบงบประมาณปี 2567 เริ่ม 1 ตุลาคม ปี 2566 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 วันนี้รัฐบาลได้เสนองบเพิ่มเติมเข้ามาอีก 122,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันรัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ขอยืนยันว่าไม่ใช่การก่อหนี้ผูกพันแต่ประการใด เพราะการก่อหนี้ผูกพันจะต้องมีการลงนามในสัญญาให้ทันภายในวันที่ 30 กันยายนเท่านั้น” นายฐากรกล่าว
นายฐากร กล่าวว่า การที่ประชาชนมาลงทะเบียนเพื่อยื่นขอเงินดิจิทัลวอลเล็ตจึงไม่ใช่การก่อหนี้ผูกพัน งบประมาณดังกล่าวจะต้องตกไป อย่างไรก็ตามได้เสนอทางออกให้ดิจิทัลวอลเล็ตถ้าไม่ทันวันที่ 30 ก.ย. 2567 สามารถทำได้คือ
1.ใช้เงินที่รัฐบาลกันไว้แล้วจากเงินงบกลางจำนวน 430,000 ล้านบาท
2.เงินจากงบเพิ่มเติมปี 2567 อีก 122,000 ล้านบาท ให้รัฐบาลแจกเงินดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์หรือเป็นเงินสดให้ประชาชน จำนวน 16.5 ล้านคนในกลุ่มเปราะบางให้เสร็จก่อน 30 ก.ย.นี้ จะทำให้เงินดังกล่าวสามารถใช้ได้ถูกต้องตามระเบียบ