CPF งัดหลักฐาน ชี้แจงปมปลาหมอคางดำ เผยพบการใช้ภาพ-ข้อมูลบิดเบือน จ่อดำเนินคดีปกป้องชื่อเสียง ยันยุติวิจัย-ทำลายซาก ตั้งแต่ปี 2554
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานกิจการองค์กร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาและในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 มีการใช้รูปภาพและข้อมูลประกอบการสื่อสารบนเวทีสาธารณะที่เป็นเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท (อ่านประกอบ: นักวิชาการชี้ต้องกำจัดปลาหมอคางดำให้สิ้นซากภายใน 3 ปี หวั่นกระทบประเทศเพื่อนบ้าน)
บริษัทฯ ขออภัยที่มีการชี้แจงล่าช้า พร้อมขอบคุณที่แสดงความห่วงใย และขออภัยต่อคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ สภาผู้แทนราษฎร ที่บริษัทฯ ไม่ได้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีที่แล้ว จึงต้องมีกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน โดยหาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและเป็นระบบ ก่อนรายงานคณะกรรมาธิการฯ โดยมีข้อมูลบางส่วนที่สามารถเปิดเผยได้ บางส่วนต้องรอชี้แจงคณะกรรมาธิการ และบางส่วนต้องพิจารณาการดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อปกป้องชื่อเสียงขององค์กร
สำหรับตัวอย่างภาพเท็จและข้อมูลเท็จบางส่วน ดังนี้
ภาพที่ 1
ภาพที่ 1 เป็นภาพที่สร้างความเข้าใจผิดและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เป็นการกล่าวอ้างว่าเป็นสภาพบ่อดินของฟาร์มยี่สาร ซึ่งใช้เพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ปี 2554 - 2557 และกล่าวอ้างว่า “เลี้ยงต่อเนื่องที่ฟาร์มยี่สารตั้งแต่ 2553 - 2560
ขอชี้แจงว่า เป็น “การใช้ภาพและข้อมูลเท็จ” เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ฟาร์มยี่สาร และ หลังจากการตัดสินใจไม่เริ่มดำเนินโครงการและยุติการวิจัยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2554 และได้ทำลายลูกปลาทั้งหมดแล้ว
บริษัทไม่มีกิจกรรมใดๆ เกี่ยวกับปลานี้อีกเลย ดังนั้น การกล่าวอ้างว่ามีการเลี้ยงต่อเนื่องถึงปี 2560 จึงเป็นข้อมูลเท็จเสมือนการโกหกที่สร้างความเข้าใจผิดเชิงลบในสังคมต่อองค์กร
ภาพที่ 2
ภาพที่สอง เป็นภาพที่กล่าวอ้างว่าเป็นการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปขยายพันธุ์/ผสมพันธุ์แล้วนำไปอนุบาลในกระชังในฟาร์มยี่สาร
ความเป็นจริงแล้วสถานที่นี้ไม่ใช่ฟาร์มยี่สาร และกิจกรรมดังปรากฎในภาพนี้ ไม่ใช่กระบวนการคัดเลือกไข่ปลาตามวิธีปฏิบัติของบริษัท
ภาพที่ 3
ภาพที่ 3 เป็นภาพถ่ายทางอากาศของบริเวณฟาร์ม โดยมีการระบุผังของฟาร์ม ซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จ กล่าวคือ กรอบสีแดง ไม่ใช่บ่อเลี้ยงปลาตามที่กล่าวอ้าง
ความเป็นจริงคือเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง ขณะที่กรอบสีเหลืองที่ระบุว่าเป็นบ่อผสมพันธุ์ปลาและบ่ออนุบาลปลาตามที่กล่าวอ้างนั้น ความจริงคือเป็นบ่อปรับปรุงพันธุ์ปลานิล ปลาทับทิม และปลาทะเล
"นอกจากรูปภาพที่บิดเบือนบางส่วนที่นำมาแสดงในวันนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อความบิดเบือนอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการทางกฏหมายต่อไป โดยผู้ที่ให้รูปและข้อมูลที่เป็นเท็จบิดเบือนข้อเท็จจริง ควรต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ร่วมกับผู้ที่ใช้ข้อมูลและรูปภาพดังกล่าวในการสื่อสารในเวทีสาธารณะต่างๆด้วย" นางกอบบุญ กล่าว
นางกอบบุญ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทเห็นด้วยว่า ควรมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางสังคมเพิ่มเติมในเรื่องนี้ เนื่องจากมีหลายบริษัทที่ซีพีเอฟไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กลับมีกิจกรรมค้าขายปลาชนิดนี้ในช่วงที่ผ่านมา จึงขอให้สังคมให้ความเป็นธรรมและควรมีการสอบหาเหตุอื่นๆเพิ่มเติมด้วย เพื่อนำข้อเท็จจริงมาร่วมกันพิจารณาหาแนวทางร่วมมือแก้ไขปัญหา ตลอดจนหาแนวทางป้องกันการแพร่กระจายในระยะยาว
สำหรับโครงการความร่วมมือสนับสนุนการแก้ปัญหา 5 โครงการนั้น มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งร่วมมือสนับสนุนกรมประมงที่มีกิจกรรมการจับปลาและปล่อยลูกปลากะพง ซึ่งพบว่าในบางพื้นที่ มีปริมาณปลาลดลงอย่างมาก
ล่าสุด ได้เข้าร่วมกิจกรรมจับปลาและมอบปลากะพงเพิ่มเติมกับประมงจังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากนั้นยังได้รับการติดต่อแสดงความจำนงจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 2-3 แห่ง ในการร่วมมือการทำวิจัย ทั้งการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและการวิจัยเพื่อหาแนวทางควบคุมประชากรปลาในระยะยาว
นางกอบบุญ กล่าวด้วยว่า บริษัทยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสอบหาข้อเท็จจริงบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงอย่างสุจริต ขณะเดียวกันต้องขอปกป้องชื่อเสียงองค์กรจากการใช้ข้อมูลและหรือรูปภาพกล่าวอ้างที่เป็นเท็จ ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้สังคมเข้าใจผิด
ผู้ให้ข้อมูลและหรือรูปภาพเหล่านั้นรวมทั้งผู้ที่ใช้ข้อมูลและรูปภาพดังกล่าว ประกอบความคิดเห็นบนเวทีสาธารณะหรือสื่อต่างๆ ควรรับผิดชอบในการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น โดยจะพิจารณาแนวทางการดำเนินการตามกฏหมายต่อไป